พิษภาษีทรัมป์ หวั่นสินค้าราคาพุ่ง คนไทยรับภาระถ้วนหน้า

พิษภาษีทรัมป์! หวั่นสินค้าราคาพุ่ง คนไทยรับภาระถ้วนหน้า ชี้ผลเจรจาไทยครั้งแรกสัญญาบวก แนะรัฐบาลปรับข้อเสนอใหม่

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงมุมมองหลังนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นำทีมไทยเจรจาภาษีกับทีม USTR ของสหรัฐ ว่า ผลการเจรจาครั้งแรกยังเป็นข้อสรุปที่ยังเป็นกลางในเชิงบวก ไทยจะต้องกลับมาทำการบ้านใหม่ ปรับข้อเสนอใหม่ให้ตรงตามความต้องการของสหรัฐ  

ส่วนเงื่อนไขที่จะตอบสหรัฐฯกลับไปหลังจากนี้ สามารถทำได้หลายรูปแบบ คือ การเจรจาครั้งแรกมีการพบปะตัวต่อตัว แต่การเจรจาในรอบต่อไป สามารถใช้เทเลคอนเฟอร์เรนซ์ (Teleconference) ได้ เชื่อว่าไทยยังมีเวลาเหลือในการเจรจากับสหรัฐฯ อีกประมาณ 2-3 วัน ซึ่งขั้นตอนการเจรจาผ่านเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ในการกลับมาทำข้อเสนอต่างๆ ใหม่ คิดว่าเป็นโอกาสที่เป็นความคืบหน้าได้

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การที่ทรัมป์ออกมาประกาศว่าจะไม่มีการขยายระยะเวลาการเก็บภาษีนำเข้าออกไปอีก 90 วัน จากที่จะครบกำหนดวันที่ 9 ก.ค. นี้ มองว่าเงื่อนไขดังกล่าวจะถูกนำไปใช้กับประเทศที่ยังไม่ได้เจรจากับสหรัฐฯ แต่ประเทศที่ได้เจรจาแล้ว อาจจะมีเงื่อนไขอื่น เช่น อาจให้ไทยถูกเก็บภาษีที่ 10% ไปก่อน แต่ถ้าเจรจาไม่สำเร็จก็อาจจะให้กลับไปเป็นการใช้ที่ 36%

ส่วนโอกาสที่สหรัฐฯ โดยสก็อตต์ เบสเซนท์ รมว.คลังของสหรัฐฯ ระบุว่า น่าจะมี 100 กว่าประเทศที่ถูกเก็บภาษี 10% ซึ่งคิดว่าเงื่อนไขตรงนั้น มีความคืบหน้าในการเจรจา เหมือนกับเป็นการส่งสัญญาณว่าไม่น่าจะมีการจัดเก็บภาษีที่ต่ำกว่า 10% ของหลายๆ ประเทศ เพราะฉะนั้น ถือเป็นจุดที่ไทยน่าจะถูกจัดเก็บภาษีจากสหรัฐฯที่ 10% ไปก่อน และขยายระยะเวลาการเจรจาต่อรอง เพื่อให้ได้ผลสรุปในที่สุด

“อย่างไรก็ตามผลการเจรจาภาษีของไทยยังให้ความหวังกับสังคมไทยถึงความคืบหน้าผลการเจรจาผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง ซึ่งการเจรจาในครั้งแรกแล้วจะได้ผลบรรลุทันทีเป็นไปได้ยาก อย่างจีนเจรจากับสหรัฐฯอย่างเป็นทางการหลายครั้ง แต่ยังไม่สำเร็จ ดังนั้น การที่ไทยได้เจรจาแล้วและได้มีความหวังกลับมาให้ทำข้อเสนอเพิ่มเติม ส่วนตัวคิดว่า ไทยยังมีโอกาส ซึ่งยังต้องติดตามกันต่อไปว่า หลังวันที่ 9 ก.ค.นี้ ไทยจะถูกจัดเก็บภาษีที่เท่าไหร่” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า หากไทยถูกเก็บภาษี ที่ 36% อาจจะส่งผลให้สินค้าไทยราคาจะสูงขึ้นเมื่อรวมกับภาษีอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการจะแบกรับภาระต้นทุนสูงถึง 36%  ส่วนกรณีหากไทยถูกเก็บภาษีที่ 10% ร่วมกับ เบสไลน์ภาษี (Baseline Tariff) อีก 10% รวมเป็น 20% ก็จะเป็นเรื่องง่ายต่อผู้ประกอบการในการลดต้นทุน โดยผู้ประกอบการน่าจะลดต้นทุนที่ 5-20% หรือ อาจจะ 10% แล้วตั้งราคาเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อยเมื่อรวมภาษี ซึ่งตรงนี้จะทำให้สามารถแข่งขันได้