
เมื่อเวลา 08.30 น. เสียงปืนนัดแรกดัง ณ ปราสาทตาเมือนธม ถือเป็นเสียงที่จุดชนวนความขัดแย้งระหว่าง “ไทย” และ “กัมพูชา” ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หากย้อนกลับไปในอดีตเมื่อปี 2546 เกิดเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ เนื่องจากสื่อหนังสือหนังสือพิมพ์และวิทยุอ้างว่า นักแสดงหญิงของไทย พูดว่า “นครวัด เป็นของคนไทย”
เพียงเท่านี้ ได้นำไปสู่การปลุกระดม “ชาวกัมพูชา” เผาทำลายสถานทูตไทย ทำร้ายคนไทย รวมถึงทำลายสิ่งก่อสร้างที่เป็นของคนไทยในกัมพูชา ซึ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ เรียกว่า “ปฏิบัติการโปเชนตง” เป็นยุคสมัยที่ “นายทักษิณ ชินวัตร” ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
สะท้อนว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ยังมีรอยแยกและระหองระแหงต่อกันเรื่อยมา ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงวัฒนธรรมที่มีความคล้ายคลึงกัน ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายแสดงความคิดเห็น และว่ากล่าวกันไปมา “ใครคือต้นกำเนิดของอารยธรรม” กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ
“ทีมเศรษฐกิจอีจัน” ไม่เห็นด้วยกับสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนเริ่มทวีความรุนแรง จนนำไปสู่การทำลายซึ่งกันและกัน ที่มีแต่จะทำให้เกิดความสูญเสียทรัพย์สิน หนังสุดก็ “ชีวิต” ของประชาชนที่ไม่ทันได้รู้ว่าอนาคตจะจบลงที่ตรงนี้
แต่ไม่ว่าใครจะสูญเสียมากกว่ากัน แต่สุดท้าย ผู้ที่เสียหายที่หนีไม่พ้นคือ “ประชาชน” ในยุคที่เศรษฐกิจเผชิญกับปัญหาภายนอกที่รุมเร้ารอบด้าน เช่น ภาษีสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บในระดับสูง สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน และความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐฯ เป็นต้น
ขณะที่ปัจจัยใหม่ คือ “ความขัดแย้งไทย-กัมพูชา” ก่อให้เกิดความกังวลกับ “ภาคธุรกิจ” ที่ไม่ได้รับเพียงแค่ผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการค้าและการลงทุนของทั้งสองประเทศต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้นนับจากนี้ไป โดยเฉพาะธุรกิจไทยที่ลงทุนอยู่ในกัมพูชา หวั่นเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย “โปเชนตง” หรือลุกลามร้ายแรงไปกว่านั้น ย่อมมีผลต่อ “เศรษฐกิจไทย”
จับตาค้าชายแดนร่วง
ผลกระทบด่านแรกที่สะท้อนตัวเลขชัดเจน “กระทรวงพาณิชย์” เปิดเผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน โดย 5 เดือนแรกของปี 2568 (ม.ค.-พ.ค.) การค้าชายแดน และการค้าผ่านแดนมีมูลค่าการค้ารวม 833,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.0% เป็นการส่งออก 480,834 ล้านบาท (9.8%) การนำเข้า 352,337 ล้านบาท (12.8%) และไทยได้ดุลการค้า 128,497 ล้านบาท
โดยสถิติการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชาเดือนพ.ค.2568 มีมูลค่าการค้ารวม 85,625 ล้านบาท ติดลบ 2.1% แบ่งเป็นการส่งออก 54,745 ล้านบาท ลบ 2.3% การนำเข้า 30,880 ล้านบาท ลบ 1.7% และไทยได้ดุลการค้าทั้งสิ้น 23,866 ล้านบาท
หากดูสัดส่วนการค้าชายแดนเรียงตามลำดับพบไทยค้าขายกับมาเลเซีย มากสุดมีมูลค่า 28,557 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รองลงมา คือ สปป.ลาว 23,953 ล้านบาท ลบ 5.7% และเมียนมา 17,005 ล้านบาท ลบ 13.3% ส่วนกัมพูชา 16,110 ล้านบาท ผลยังเป็นบวกที่ 7% แต่ถือเป็นมูลค้าต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการค้าชายแดนร่วมกัน
ส่วนสินค้าส่งออกชายแดนไปยัง 4 ประเทศสำคัญในเดือนพ.ค.2568 ได้แก่ น้ำมันดีเซล 2,949 ล้านบาท น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ 1,545 ล้านบาท และเครื่องดื่มอื่น ๆ เช่น นม UHT นมถั่วเหลือง 1,472 ล้านบาท
ดังนั้น ผลกระทบจากการปิดด่าน ทำให้สินค้าไทยไม่สามารถส่งไปขายประเทศกัมพูชา ได้ตามปกติ ย่อมมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน แม้ว่า 5 เดือนแรกที่ไทยส่งสินค้าไปขายกัมพูชา จะเป็นบวกก็ตาม แต่หลังจากนี้ คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
“สรท.” เสนอ “รัฐ” ออกมาตรการด่วน
สอดคล้องกับ “สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)” ระบุจากการปะทะทั้ง 2 ประเทศ มีผลต่อการค้าชายแดนและภาคธุรกิจชัดเจน โดยเฉพาะการค้าผ่านด่านสำคัญ เช่น อรัญประเทศ หยุดชะงักตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. กระทบรายได้ของการส่งออกมูลค่าราว 50–330 ล้านบาทต่อวัน หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจสร้างความเสียหายรวมถึง 60,000 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้
ทั้งนี้ ภาคเอกชนเผชิญปัญหาหลายด้าน ทั้งการล่าช้าของซัพพลายเชน ผลผลิตทางเกษตรและแรงงานข้ามชาติถูกจำกัด รวมถึงมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจจากกัมพูชา เช่น การแบนผลไม้ไทย สบู่ และสื่อโทรทัศน์ โดย สรท.เสนอ 4 เงื่อนไขหลัก เพื่อคืนสู่ภาวะปกติ ได้แก่ ยุติการยิงปะทะทันที, เปิดโต๊ะเจรจาทวิภาคีระดับลึก, เปิดด่านทุกช่องทาง และยกเลิกมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ
ขณะที่ ในระยะสั้นแนะนำผู้ส่งออกเตรียมแผนสำรอง ทั้งการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งไปยังด่านอื่น เช่น ช่องเม็กหรือบ้านผักกาด รวมถึงการเร่งหรือชะลอคำสั่งซื้อ การทำประกันภัยสินค้า และสื่อสารใกล้ชิดกับคู่ค้าฝั่งกัมพูชา ส่วนในระยะกลาง-ยาว ผู้ส่งออกควรกระจายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้านอื่น เช่น สปป.ลาว เวียดนาม หรือพม่า รวมถึงเพิ่มช่องทางส่งออกทางเรือและอากาศ และวางแผนคลังสินค้าหลายจุด เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุภูมิรัฐศาสตร์
“7 แบงก์รัฐ” บรรเทาผลกระทบ
เพื่อตอบรับปัญหาอย่างเร่งด่วน “รัฐบาล” มอบนโยบายให้ “ธนาคารภายใต้การกำกับของรัฐ 7 แห่ง” ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชน เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย
1.ธนาคารออมสิน อาทิ พักหนี้ชำระเงินต้นถึง ธ.ค. 68 ส่วนสินเชื่อรายย่อยดอกเบี้ย 0.60-0.75% ต่อเดือน สินเชื่อ SMEs วงเงิน 5 ล้าน ดอกเบี้ยลดพิเศษ
2.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) อาทิ สินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาท ดอกเบี้ย MRR ปลด 6 เดือน สินเชื่อฟื้นฟู 500,000 บาท ดอกเบี้ย MRR-2
3.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) อาทิ ลดดอกเบี้ยกรณีผู้กู้บาดเจ็บ 5 ปี แรก 0.01% ต่อปี ส่วนที่อยู่อาศัยเสียหายต้องก่อสร้างใหม่ทดแทน ได้กำหนดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก 0% ต่อปี (เดือนที่ 7-12 คือ 0.50%)
4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) อาทิ พักชำระเงินต้น/ลดค่างวด/ขยายเวลาชำระ และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี (3 ปี) หรือ 2.99% ต่อปี (Refinance)
5.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อาทิ พักชำระค่าทำเนียม/ค่างวด 3-6 เดือน โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Power Trade & Biz วงเงิน 0.5-10 ล้านบาท และ SMEs Micro Biz วงเงิน 10,000-500,000 บาท
6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) อาทิ ขยายชำระหนี้สูงสุด 365 วัน ลดดอกเบี้ย 20% เพิ่มวงเงินชั่วคราว ดอกเบี้ย 2.99% ต่อปี สินเชื่อหมุนเวียน/ประกันการส่งออกหลากหลาย
7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) พักชำระเงินต้น/กำไร สูงสุด 6 เดือน วงเงินเพิ่มเพื่อซ่อมแซม/ฟื้นฟู (ที่อยู่อาศัย 1.99% ต่อปี, ธุรกิจ 3.25% ต่อปี)
“เอกชน” ห่วงฉุดลงทุนระยะยาว
ในส่วนฟากฝั่งของ “สถาบันการเงิน” ประเมินสถานการณ์ปะทะชายแดนไทย–กัมพูชาว่า มีผลกระทบในช่วงสั้นและอยู่ในระดับพื้นที่ ยังไม่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยโดยรวม หากการปะทะไม่ยืดเยื้อเกิน 1 สัปดาห์ ขณะที่ ภาคการค้าระหว่างประเทศยังสามารถดำเนินต่อได้ในภายหลัง เพียงแต่ต้องจับตาว่า จะมีความรุนแรงและขยายวงกว้างหรือไม่ ซึ่งจะกระทบบรรยากาศการค้าและการลงทุนในอนาคต
ประเด็นที่ต้องจับตาในอนาคตคือ “แรงงานกัมพูชา” เนื่องจาก ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ณ สิ้นเดือน พ.ค.2568 แรงงานกัมพูชา ทำงานในไทย 512,184 คน หากมีการเรียกแรงงานกลับประเทศอาจมีผลกระทบบ้าง แต่ไม่มากนัก เนื่องจากแรงงานชาวกัมพูชา ยังสัดส่วนน้อยกว่าแรงงานจากประเทศพม่า โดยแรงงานกัมพูชาส่วนใหญ่ มากกว่า 90% อยู่ในภาคก่อสร้าง
สู้ทั้งปีทุบเศรษฐกิจวูบ 5.5 หมื่นล้าน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบต่อการค้าชายแดนของไทย หากเหตุการณ์ปะทะรุนแรงจนต้องปิดด่านทั้ง 5 แห่ง ประกอบด้วย ด่านอรัญประเทศ (สระแก้ว), ด่านคลองใหญ่ (ตราด), ด่านจันทบุรี, ด่านช่องจอม (สุรินทร์) และด่านช่องสะงำ (ศรีสะเกษ)
โดยประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย 3 กรณี คือ 1.หากสถานการณ์คลี่คลายภายใน 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอยู่ที่ 11,000 ล้านบาทต่อเดือน 2.สถานการณ์ยืดเยื้อ 3 เดือน มีผลต่อเศรษฐกิจ 34,000 ล้านบาท และ 3.หากเหตุการณ์นานถึงสิ้นปีนี้สร้างความเสียหายรวม 55,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการค้าขายผ่านทั้ง 5 ด่าน เป็นการค้าขายทางบก แต่หลังจากเกิดปัญหาความขัดแย้ง ผู้ค้าขายได้ปรับรูปแบบการค้าเป็นการค้าและส่งออกผ่านทางอากาศ และทางเรือนแทน ซึ่งอาจทำให้ความเสียหายด้านการค้าของ 2 ฝ่ายลดดลง
ส.อ.ท.ห่วงปลุกความเกลียดชัง
อีกภาคธุรกิจ “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)” เผยผลกระทบจากเหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นนั้น โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทย-กัมพูชาในปี 2567 มียอดค้าขายระหว่างกันประมาณ 180,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการค้าขายผ่านชายแดนต่างๆ ประมาณ 175,000 ล้านบาท และอีก 5,000 ล้านบาท ขนส่งผ่านทางเครื่องบินและช่องทางอื่น
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ล่าสุด การปะทะเพิ่มความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวก็ต้องซบเซาตามไปด้วย อีกทั้งส่งผลต่อความเป็นอยู่และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งต้องมีการอพยพ หรือต้องไปอยู่ที่หลุมหลบภัย
นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังห่วงประเด็น “การปลุกระดมความเกลียดชัง” ที่นำมาสู่การใช้ความรุนแรงและสร้างความหวาดกลัว ทั้งชาวไทยที่อยู่ในกัมพูชาและชาวกัมพูชาที่อยู่ในไทย หากนำความขัดแย้งมาเป็นประเด็นต่อการทำร้ายร่างกายตามอำเภอใจ เรื่องนี้ ไม่ส่งผลดีอย่างแน่นอน และยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาแย่ลงไปกว่าเดิม