
จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนไทย – กัมพูชา ที่เริ่มจากฝั่งกัมพูชา กระทั่งทำให้พลเรือนไทยได้รับึความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน และสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปไม่น้อย ล่าสุด พรรคผู้นำฝ่ายค้าน ออกโรงกดดันรัฐบาลจัดการขั้นเด็ดขาดกับ “ผู้นำแห่งกัมพูชา” แล้ว
วันนี้ (26 ก.ค. 68) พรรคประชาชน ออกแถลงการณ์ร้องขอข้อเสนอถึงรัฐบาล ผลักดันนำตัว สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน และ ฮุน มาเนต 2 ผู้นำแห่งกัมพูชา ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ฐานก่ออาชญากรรมสงคราม มุ่งโจมตีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ย้ำถือเป็นการใช้สิทธิ์ของรัฐผู้ถูกรุกราน ปกป้องสิทธิเสรีภาพไทย

แถลงการณ์ระบุว่า
ข้อเสนอพรรคประชาชนต่อรัฐบาลไทย นำ ฮุน เซน ขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศฐานอาชญากรรมสงคราม
จากสถานการณ์การปะทะที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ที่เปิดฉากยิงโดยกองทัพกัมพูชา และมีการโจมตีไม่เลือกหน้าด้วยอาวุธยิงพิสัยไกลต่อเป้าหมายพลเรือน ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ บ้านเรือน จนทำให้พลเรือนไทยเสียชีวิตอย่างน้อย 16 ราย รวมถึงเด็กและผู้สูงอายุ และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 29 คน
ฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ยังได้โพสต์ในโซเชียลมีเดียส่วนตัว ยืนยันว่าตนเป็นผู้บัญชาการโจมตีอันส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ชาวไทยด้วยตัวเอง

พรรคประชาชนเห็นว่า การกระทำดังกล่าวของฮุน เซน เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม การโจมตีพลเรือนโดยเจตนา ถือเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างชัดแจ้งในกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งธรรมนูญกรุงโรมแห่งศาลอาญาระหว่างประเทศ มาตรา 8(2)(b)(i) และอนุสัญญาเจนีวา ตามมาตรา 147 ซึ่งนำไปสู่หลักเขตอำนาจศาลสากล (Universal Jurisdiction) ที่อนุญาตให้ทุกรัฐสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้
พรรคประชาชนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ดำเนินการยื่นฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อเอาผิด ฮุน เซน และ ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ
แม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม แต่กัมพูชาเป็นรัฐภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศตั้งแต่ปี 2002 ศาลจึงมีเขตอำนาจเหนือคดีได้โดยตรง หากผู้กระทำความผิดเป็นบุคคลสัญชาติกัมพูชา
รัฐบาลไทยจึงมี 2 ทางเลือกที่สามารถดำเนินการฟ้องร้องได้ คือ
1. ยื่นเรื่องต่อสำนักงานอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 15 เพื่อร้องขอให้เริ่มกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้น (Preliminary Examination)
2. ประกาศยอมรับเขตอำนาจศาลเฉพาะกรณี ในฐานะรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดเหตุอาชญากรรมสงคราม ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการแสดงออกทางการเมืองที่เข้มแข็งชัดเจนต่อกัมพูชา ว่าไทยพร้อมปกป้องชีวิตและความปลอดภัยของพลเรือนผู้บริสุทธิ์ โดยใช้กลไกระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ พรรคประชาชนยืนยันว่า การดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ถือเป็นการใช้สิทธิ์ของรัฐผู้ถูกรุกราน ปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนไทยโดยใช้กลไกระหว่างประเทศอย่างผู้มีอารยะ โดยหวังว่ากลไกดังกล่าวจะหยุดยั้งผู้นำกัมพูชาจากการโจมตีพลเรือนไทย และนำกัมพูชากลับสู่การเจรจาทวิภาคี เพื่อคืนความปกติสู่ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศในอนาคต

ขอบคุณข้อมูล : พรรคประชาชน