ลำไยเหนือลูกดก! คาดทะลักตลาด 1.06 ล้านตัน

ลำไยภาคเหนือลูกดก คาดทะลักสู่ตลาด 1.06 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 12% เดือนส.ค. ผลผลิตพีคสุดในรอบปี

นางสุจารีย์  พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ผลผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก แพร่ และน่าน) โดย สศก. ร่วมกับคณะทำงานย่อยเพื่อพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกภาคเหนือ จัดทำข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ ครั้งที่ 2/2568 (ข้อมูล ณ วันที่ 7-8 พ.ค. 2568) พบว่า ปี 2568 ลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ มีเนื้อที่ยืนต้น จำนวน 1.243 ล้านไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 1.251 ล้านไร่ (ลดลง 7,722 ไร่ หรือ 0.62% เนื่องจากเกษตรกรโค่นต้นลำไยที่มีอายุมากและให้ผลผลิตน้อย

โดยปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ยางพารา ทุเรียน มะม่วง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ด้านผลผลิตรวม มีจำนวน 1.064 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 947,140 ตัน (เพิ่มขึ้น 117,102 ตัน หรือ 12%) เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนาน เอื้ออำนวยต่อการติดดอก ไม่กระทบแล้ง ส่งผลให้ติดผลมากกว่าปีที่ผ่านมา  ส่วนผลผลิตลำไยในฤดูออกสู่ตลาดช่วงปลายเดือนมิ.ย. – ก.ย. 2568 และจะออกตลาดมากที่สุดในเดือนส.ค. 2568 ประมาณ 422,400 ตัน หรือ 57% ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด

นางสุจารีย์  กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2568 พบว่า ลำไยในฤดู มีจำนวน 740,639 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ที่มีจำนวน 598,528 ตัน (เพิ่มขึ้น 142,111 ตัน หรือ 24%) และลำไยนอกฤดู (ออกสู่ตลาดม.ค. – พ.ค. และ ต.ค. – ธ.ค.) มีจำนวน 323,603 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 348,612 ตัน (ลดลง 25,009 ตัน หรือ 7%)

ด้านสถานการณ์ราคาลำไยของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ณ เดือนก.ค. 2568 ซึ่งเป็นช่วงที่ลำไยในฤดูเริ่มออกสู่ตลาด (เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว 2,684 ตัน) ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ราคาที่เกษตรกรขายได้ แบ่งตามเกรด ได้แก่   

ลำไยสดช่อ เกรด AA+A (ตะกร้าขาว) ราคา 40 บาท/กิโลกรัม

ลำไยรูดร่วง เกรด AA ราคา 26 บาท/กิโลกรัม

เกรด A  ราคา 10 บาท/กิโลกรัม

เกรด B ราคา 6 บาท/กิโลกรัม

เกรด C ราคา 1 บาท/กิโลกรัม

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการลำไยในฤดูของภาคเหนือ ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมกันวางแนวทางการบริหารสมดุลดีมานด์และซัพพลาย โดยมีการรวบรวมข้อมูลจากผู้ประกอบการ สำหรับความต้องการผลผลิตส่วนใหญ่จะเน้นการแปรรูปเป็นลำไยอบแห้งทั้งเปลือก อบแห้งเนื้อสีทอง น้ำลำไยสกัดเข้มข้น ลำไยกระป๋อง ฟรีซดราย และแช่แข็ง จำนวน 520,099 ตัน บริโภคสดในประเทศ จำนวน 124,847 ตัน และส่งออกลำไยสด จำนวน 95,693 ตัน

อย่างไรก็ตาม เดือนส.ค. เป็นช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัว อาจส่งผลกระทบต่อราคาลำไย ซึ่งหน่วยงานภาครัฐทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การตลาด ได้เตรียมแผนบริหารจัดการสินค้าและเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจังหวัด เพื่อบริหารจัดการในช่วงที่ผลผลิตออกกระจุกตัวในช่วงเดือนส.ค. นี้เรียบร้อยแล้ว โดยในส่วนการจำหน่ายลำไยเพื่อบริโภคสดในประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการบริหารจัดการ โดยมีกิจกรรมการจัดทำแผนกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต ขอรับการสนับสนุนค่าบริหารจัดการให้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ และผู้ประกอบการในตลาดกลางสินค้าเกษตรที่อยู่ในความส่งเสริมของกรมการค้าภายใน ในอัตราไม่เกินกิโลกรัมละ 3 บาท รวม 1,304 ตัน พร้อมกระจายออกนอกแหล่งผลิตผ่าน Modern Trade เครือข่ายสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ธ.ก.ส. ไปรษณีย์ ตลาดออนไลน์ และตลาดอื่น ๆ อาทิ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ตลาดไท พาณิชย์ หน่วยงานราชการ เป็นต้น

นอกจากนี้การผลิตลำไยในปีนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากระยะนี้เป็นช่วง เก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรชาวสวนลำไยควรหมั่นสำรวจสวนอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้มีคุณภาพ และให้เฝ้าระวังเพลี้ยแป้ง ซึ่งเป็นศัตรูพืชสำคัญในลำไยเพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด

“การบริโภคผลผลิตลำไยจากเกษตรกรไทยจะแนวทางสำคัญในการช่วยเหลือและสนับสนุนเกษตรกรให้มีรายได้ที่มั่นคง เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก และส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรของประเทศ จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคร่วมสนับสนุนผลผลิตลำไยของเกษตรกรที่จะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนส.ค. เพื่อเป็นการสนับสนุนรายได้ สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พี่น้องเกษตรกรในการดำเนินอาชีพ และผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพได้อย่างต่อเนื่อง” นางสุจารีย์  กล่าว