
วันนี้ (10 ก.ค.68) รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจ SMEs ของไทย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 6.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 35% ของ GDP และเป็นแหล่งการจ้างงานกว่า 70% ของการจ้างงานทั้งหมด โดยผู้ประกอบการไทยกว่า 3.2 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งหมด เป็น SMEs ที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ดังนั้น SMEs จึงมีบทบาทสำคัญในการกระจายรายได้ไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด
แม้ธุรกิจ SMEs จะมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทย แต่เป็นแรงขับเคลื่อน GDP เพียง 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้า/บริการต่ำ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำได้จำกัด และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อความอยู่รอดยังน้อย

ธุรกิจ SMEs ของไทยมีการปิดกิจการเพิ่มขึ้น จากปัจจัยท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศที่ฟื้นตัวช้า ต้นทุนการดำเนินธุรกิจปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงการแข่งขันรุนแรงต่อเนื่องกับสินค้านำเข้าและแพลตฟอร์ม E-commerce ต่างชาติ ส่งผลกดดันต่อการสร้างรายได้และการรักษาอัตรากำไรของธุรกิจ
สะท้อนจากในช่วงปี 2563-2566 แม้ผู้ประกอบการ SMEs บางส่วนยังสามารถประคองและรักษาความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ แต่ก็มี SMEs ขนาดเล็กและรายย่อยอีกกว่า 26% ที่ต้องเผชิญภาวะผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน สอดรับไปกับจำนวนการปิดกิจการที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 มีธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 100 ล้านบาท ปิดกิจการอยู่ที่ 23,551 ราย หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7% (CAGR ปี 2564-2567)

ขณะเดียวกัน แม้ว่าในแต่ละปีจะมีธุรกิจ SMEs ที่จัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 7% เช่นกัน (CAGR ปี 2564-2567) แต่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่รอดในช่วงหลัง Early stage หรืออยู่รอดหลังจัดตั้งกิจการไปแล้ว 3 ปี กลับมีทิศทางลดลง สะท้อนว่า ในภาวะการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน ผู้ประกอบการที่เริ่มทำธุรกิจใหม่มีแนวโน้มอยู่รอดยากขึ้น เนื่องจากยังไม่มีฐานลูกค้าประจำ และขาดประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูง ปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธุรกิจ SMEs ยังมีแนวโน้มขาดทุนหรือปิดกิจการต่อในแทบทุกอุตสาหกรรม แต่คาดว่าเป็นทิศที่ชะลอลง เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการปิดไปพอสมควรแล้ว
ภาคการผลิต นอกจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกแล้ว ผลจากสงครามการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง เป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดส่งออก ทั้งนี้ ปัจจุบัน SMEs ในภาคการผลิตของไทยมีมูลค่าส่งออกไปยังสหรัฐฯ 3.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 7% ของมูลค่าส่งออกในภาคการผลิตทั้งหมดของไทยไปยังสหรัฐฯ
ธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรและส่วนประกอบ ขณะเดียวกัน ตลาดในประเทศยังต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นกับสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากผลของสงครามการค้า เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการแข่งขันที่ทวีความรุนแรง สภาวะการณ์ดังกล่าวจึงอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังยอดคำสั่งซื้อของ SMEs ภายในห่วงโซ่การผลิตให้ลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในจังหวะที่ผู้ประกอบการใหญ่ระมัดระวังการลงทุน
ภาคการค้าและบริการ ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า อีกทั้งพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ยังถูกกดดันจากกำลังซื้อในประเทศลดลง ตามภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และแรงงานเสี่ยงถูกกระทบการปิดตัวของโรงงานหรือกิจการ ทำให้ผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย อีกทั้งยังมีประเด็นการเมือง ตลอดจน SMEs ต้องแข่งขันกับรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในการบริหารจัดการต้นทุนที่ผันผวน
ขณะที่ ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของภาคการค้าและบริการ และมีการใช้จ่ายไปยังสินค้าอุปโภคบริโภคคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด ก็คาดหวังได้น้อยลง โดยธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหลัก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ขนส่งสินค้า/คน ร้านค้าปลีกอินเทอร์เน็ต และร้านค้าปลีกสินค้าทั่วไป
สะท้อนจากตัวเลขการปิดกิจการของธุรกิจเหล่านี้ ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังปิดเพิ่มขึ้นจากความไม่สมดุลของผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากเมื่อเทียบกับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มชะลอลง ทำให้การแข่งขันเพื่อแย่งชิงลูกค้ายังรุนแรง

นอกจากผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ SMEs แล้ว การขาดทุน/ปิดกิจการที่เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อเนื่องมายังการจ้างงาน แม้การจ้างงานสุทธิของธุรกิจ SMEs ยังเป็นบวก จากจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่ยังมากกว่าธุรกิจที่ปิดกิจการ แต่ตัวเลขอัตราการเติบโตกลับลดลงในช่วงปี 2565-2567
สะท้อนว่า ไปข้างหน้าจำนวนธุรกิจที่เปิดใหม่อาจสามารถดูดซับแรงงานในตลาดได้น้อยลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะภาคการค้าและการผลิตที่มีอัตราการเติบโตของการจ้างงานเฉลี่ยต่อปีเพียง 2.1% และ 0.7% ชะลอลงจากในช่วงปี 2562-2564 ที่เคยโต 3.4% และ 2.0% สอดคล้องไปกับการจ้างงานในภาพรวม ณ ไตรมาสแรกปี 2568 ของภาคการค้าและการผลิตที่หดตัว -3.1% และ -0.5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ท้ายที่สุดแล้ว โจทย์ข้างหน้าที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ทำให้เสี่ยงที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของ SMEs จะไม่เพิ่มขึ้นและอาจส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่
อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลายของ SMEs ทั้งในแง่จำนวน ประเภทกิจการ และเงื่อนไขทางธุรกิจที่ต่างกัน ทำให้คงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวของความอยู่รอด
สิ่งที่ SMEs ต้องทำคือ การปรับตัว และการพึ่งพาตนเองให้ได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งความสามารถในการทำกำไร (Bottom line) ยอดขายและสภาพคล่องของธุรกิจ เป็นเรื่องที่สำคัญ ขณะเดียวกัน การไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และพยายามหาโอกาสท่ามกลางวิกฤตอยู่เสมอ ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่อง