
เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “เอไอเอส” หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นความสำคัญ จึงเดินหน้าภารกิจสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “AI for Sustainable Nation”
ล่าสุดจับมือ “อมตะ คอร์ปอเรชัน” พัฒนาอมตะซิตี้ ชลบุรี ให้เป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (Smart City) รองรับการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยเครือข่าย 5G และโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกที่ครอบคลุม 100% ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ปูทางสู่เศรษฐกิจอัจฉริยะในพื้นที่ EEC
สะท้อนภาพจาก “วสิษฐ์ วัฒนศัพท์” หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC สร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ให้ประเทศสูงถึง 34% แต่กว่า 90% ของโรงงานยังอยู่ในระดับอุตสาหกรรม 1.0 – 3.0 มีเพียง 2% เท่านั้นที่เข้าสู่ยุค 4.0
เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่าน AIS ได้ลงทุนพัฒนาโครงข่าย 5G และไฟเบอร์ออปติกในนิคมอุตสาหกรรมทั่ว EEC เพื่อรองรับเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อ Smart Manufacturing และ Smart Logistics อาทิ ระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ระบบควบคุมการผลิตอัตโนมัติ และ IoT หรือเทคโนโลยีที่เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ เข้ากับอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้โดยอัตโนมัติ
“เราทำมากกว่าแค่ติดตั้งเครือข่าย แต่ร่วมออกแบบระบบกับผู้ประกอบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างแท้จริง” วสิษฐ์กล่าว

จากผู้ให้บริการเครือข่าย สู่ที่ปรึกษาธุรกิจอุตสาหกรรมครบวงจร
วสิษฐ์ กล่าวต่อว่า AIS ไม่หยุดแค่บทบาทโอเปอเรเตอร์ แต่พัฒนาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ด้วยบริการ Total Solution ที่ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบระบบอัจฉริยะ การพัฒนาทักษะบุคลากร จนถึงการสนับสนุนการยื่นโครงการเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พร้อมหาสิทธิประโยชน์ต่างๆเพิ่มเติมให้อย่างต่อเนื่อง
เช่น การทำงานร่วมกับ SMC หรือ Sustainable Manufacturing Center (ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน) เพื่อร่วมผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดย SMC ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ประเมินความพร้อม และออกใบรับรองให้กับโรงงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการเป็นโรงงานอัจฉริยะ พร้อมเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยในระดับสากล
“โรงงานเก่ามีข้อจำกัดในการอัปเกรดระบบต่างๆ เราจึงเริ่มจากการเข้าไปในนิคมฯ วางโครงข่ายให้พร้อมก่อน แล้วทำงานร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อออกแบบระบบให้เหมาะสม โดยเอไอเอสทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับทั้ง 16 นิคมอุตสาหกรรมใน อีอีซี การนำเสนอโซลูชันของเอไอเอส ไม่ใช่ว่าใช้แล้วเร็วอย่างไร ดีอย่างไร แต่ต้องบอกได้ว่า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจอย่างไร ” วสิษฐ์ กล่าว

“อมตะ เน็ทเวอร์ค” ต้นแบบเมืองอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม
ความร่วมมือระหว่าง AIS และอมตะ คอร์ปอเรชัน นำไปสู่การก่อตั้ง “อมตะ เน็ทเวอร์ค จำกัด” ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในอมตะซิตี้ ชลบุรี ปัจจุบันนิคมฯ แห่งนี้มีโรงงานกว่า 750 แห่ง และเป็นหนึ่งในไม่กี่พื้นที่ที่สามารถใช้งานเทคโนโลยี 5G SA, Network Slicing และไฟเบอร์ออปติกได้อย่างเต็มรูปแบบ
AIS และอมตะร่วมกันพัฒนาโครงข่ายและโซลูชันที่เชื่อมโยงทั้งระบบผลิต สาธารณูปโภค และความปลอดภัย เพื่อยกระดับนิคมฯ เป็น Smart City ที่สมบูรณ์แบบ พร้อมดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักในอาเซียน
“วิวัฒน์ กรมดิษฐ์” ประธานเจ้าหน้าที่เทคนิควิศวกรรม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า อมตะซิตี้ ชลบุรี ได้กันพื้นที่กว่า 6,000 ไร่ รองรับการลงทุนของ Data Center ซึ่งเป็นโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต ด้วยปัจจัยด้านไฟฟ้า น้ำ และโครงข่ายที่เสถียรของไทย ทำให้กลุ่มทุนต่างชาติเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ยกระดับอุตสาหกรรมไทย สู่ฮับ 4.0 แห่งภูมิภาค
“เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เก็บข้อมูลบน Cloud มากขึ้น ใช้ AI มากขึ้น ความต้องการ Data Center ก็จะพุ่งสูง ซึ่งไทยมีศักยภาพเต็มที่ที่จะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ดังนั้นเน็ตเวิร์กและโซลูชันเป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจ Data Center ต้องการ” วิวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ด้วยวิสัยทัศน์ร่วมของ AIS และอมตะในการนำโครงสร้างพื้นฐาน 5G และดิจิทัลมาใช้พัฒนา Smart City ไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเท่านั้น แต่ยังสร้างข้อได้เปรียบที่ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก และผลักดัน EEC ให้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม 4.0 แห่งภูมิภาคอาเซียนในอนาคตอันใกล้