
ตามที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กรณีซื้อหุ้นต่อจากมารดาและเครือญาติรวม 5 รายในรูปแบบตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) มูลค่า 4.4 พันล้านบาท โดยตั้งข้อสังเกตว่าเป็นช่องโหว่ทางกฎหมายหลีกเลี่ยงไม่ให้มารดาและเครือญาติต้องจ่ายภาษีกว่า 218 ล้านบาท
วันนี้ (25 มี.ค.68) นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ถ้าในข้อเท็จจริงเป็นการทำธุรกรรมโดยออกตั๋ว PN จะเปรียบเสมือนสัญญาเงินกู้ระหว่าง 2 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ออกตั๋ว (ลูกหนี้) และผู้รับเงิน (เจ้าหนี้) ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ระบุว่า สามารถออกได้ 2 แบบคือ ออกแบบกำหนดระยะเวลาที่จะชำระเงินชัดเจน หรือออกแบบไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการชำระเงิน ซึ่งการออกแบบที่ไม่ได้ระบุเวลาในการชำระเงินนั้นจะต้องจ่ายเงินทันทีเมื่อถูกเรียกหรือถูกทวงถาม

ส่วนเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้นประมวลกฎหมายแพ่งฯ ระบุว่า จะกำหนดหรือไม่กำหนดก็ได้ หากมีการกำหนด จะต้องระบุไว้ที่หน้าตั๋ว PN อย่างชัดเจน
กรณีการซื้อขายหุ้นนอกตลาดฯ ผู้ขายมีหน้าที่เสียภาษี ซึ่งกรณีภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะใช้เกณฑ์เงินสด ถ้าผู้ซื้อได้มีการออกตั๋ว PN เพื่อเป็นสัญญาว่าจะชำระค่าหุ้นเต็มจำนวน การเสียภาษีจะเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระตั๋ว PN ด้วยเงินสด

ซึ่งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ระบุว่า ในปีหน้า (2569) จะมีการชำระเงินกัน ผู้ขายหุ้นก็จะต้องชำระภาษี โดยถือเป็นเงินได้ของปี 2569 ซึ่งจะต้องยื่นแบบฯ ในปี 2570 ในประเภทเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (Capital Gains) ผู้ขายหุ้นให้แก่นายกฯ มีเงินได้ประเภทนี้ ก็ยื่นแบบฯ และชำระภาษีตามขั้นตอนปกติ
“ธุรกรรมลักษณะนี้มีภาระภาษี โดยขึ้นอยู่กับว่าต้องชำระภาษีเมื่อไร การออกตั๋ว PN เมื่อมีการจ่ายเงิน ก็ต้องมีการชำระภาษี” นายปิ่นสายกล่าว