‘กฟผ.’ เปิดเหตุผล ทำไมค่าไฟงวดสุดท้ายปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.66) ลงติ๊ดเดียว!

ถึงบางอ้อ! ‘กฟผ.’ เฉลยแล้ว ทำไมค่าไฟงวดสุดท้ายปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.66) ลงติ๊ดเดียว เพราะมีหนี้ท่วม ต้องใช้ 1.1 แสนล้านบาท

ชัดเจนแล้วว่า ค่าเอฟที (ค่า Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.66 อยู่ที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) หลังที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปึ่งออกมาเมื่อวันที่ 27 ก.ค.66 ที่ผ่านมา ซึ่งปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค.66) จาก 4.70 บาทต่อหน่วยเหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย

ขณะที่ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เผยว่า แนวทางสำคัญคือการยืดหนี้ กฟผ. 110,000 ล้านบาท ออกไปจาก 5 งวดไปเป็น 6 งวด หรือสิ้นสุดภายในเดือน เม.ย.68 นั้น ยอมรับว่าไม่สามารถทำได้ เพราะจะกระทบต่อกระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของ กฟผ.และกระทบต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรทติ้ง) ของ กฟผ. ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อการลงทุนในอนาคตสูงขึ้น

โดยปัจจุบัน กฟผ.ได้บริหารกระแสเงินสด และสภาพคล่องทางการเงินดังกล่าวโดย

1.ใช้เงินกู้เพื่อบริหารสภาพคล่อง รวม 110,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง เดือน พ.ค.65 จำนวน 25,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อบริหารภาระค่าเอฟที (กระทรวงการคลังค้ำประกัน) จำนวน 85,000 ล้านบาท

2.ใช้วงเงินกู้ระยะสั้น (Credit Line) สูงสุดจำนวน 30,000 ล้านบาท และ 3.เลื่อนจ่ายเงินนำส่งรัฐ โดย กฟผ. มีภาระในการคืนเงินต้นเงินกู้เสริมสภาพคล่องซึ่งจะเริ่มมีการชำระยอดแรกในปี 67 แต่ปัจจุบัน กฟผ. ได้เริ่มชำระดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้น หาก กฟผ. ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดจนต้องมีการขยายเวลาชำระหนี้ออกไปจะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ย ต้นทุนทางการเงิน และอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรทติ้ง) ของ กฟผ.

นายบุญญนิตย์ กล่าวว่า กฟผ.เองต้องแบกภาระค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพในช่วงที่ผ่านมาต่อเนื่อง เพราะค่าเชื้อเพลิงที่มีราคาสูงจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ กฟผ.ต้องแบกภาระรวมราว 1.5 แสนล้านบาท ในช่วงปลายปี 65 แต่ได้แบ่งการชำระหนี้คืนออกเป็น 6 งวด (2 ปี) แต่ต่อมารัฐได้ขอให้ขยายเวลาเป็น 7 งวดเพื่อช่วยประชาชน

และขณะนี้ได้ทยอยใช้หนี้ไปแล้ว 2 งวด จึงเหลือ 5 งวด เพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน เม.ย.68 จึงต้องขอให้เป็นไปตามนี้ ถ้าขยายไปเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด เรทติ้งที่ไม่ดีทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้สูงส่งผลให้การลงทุนขยายระบบส่ง โรงไฟฟ้าของ กฟผ.ที่มีต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและอาจกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาวได้

ขอบคุณ: มติชนออนไลน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ค่าไฟงวดบิลสุดท้ายปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.66) ลงติ๊ดหนึ่ง! เหลือ 4.45 บ./หน่วยกกพ.เปิดฟังความเห็น ค่าไฟงวดสุดท้ายปี 66 ถูกสุด 4.45 บ. แพงสุด 6.28 บ.