ศาลฯ ชี้ขาดให้ “เนสท์เล่” ขาย เนสกาแฟ ขายในไทยได้

แฟนเนสกาแฟมีเฮ! ศาลฯ ชี้ขาด “เนสท์เล่” ถือสิทธิ์แบรนด์เนสกาแฟแต่เพียงผู้เดียวในไทย กลับมาจำหน่ายได้ตามปกติ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ชี้ขาด “เนสท์เล่” ถือสิทธิ์แบรนด์ “เนสกาแฟ” แต่เพียงผู้เดียวในไทย กลับมาจำหน่ายได้ตามปกติ

ความคืบหน้าคดีข้อพิพาททางธุรกิจที่สั่นสะเทือนวงการ ระหว่าง “เนสท์เล่” บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” และตระกูล “มหากิจศิริ” ผู้ก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ซึ่งรับหน้าที่ผลิตเนสกาแฟในไทยมาตั้งแต่ปี 2533

เมื่อปี 2564 “เนสท์เล่” ได้แจ้งยุติสัญญากับ QCP อย่างเป็นทางการ โดยจะมีผลในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 หลังยุติสัญญา ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องทิศทางการดำเนินงานของ QCP ในอนาคต นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ หนึ่งในผู้ถือหุ้นของ QCP จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลมีคำสั่งห้าม “เนสท์เล่” ผลิต ว่าจ้างผลิต จำหน่าย หรือ นำเข้าสินค้าเนสกาแฟในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2568 เป็นต้นมา

ต่อมา “เนสท์เล่” ได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าการห้ามเจ้าของแบรนด์และผู้ผลิตทำการผลิตและจำหน่าย ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อเกษตรกร ซัพพลายเออร์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 17 เมษายน 2568

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2568 น.ส.เครือวัลย์ วรุณไพจิตร ผู้อำนวยการบริหารหน่วยธุรกิจ เนสท์เล่ โพรเฟชชันนัล ประเทศไทย ได้ออกหนังสือแจ้งพันธมิตรทางการค้า ถึงความคืบหน้าของคดี โดยระบุว่า

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง มีคำสั่งชี้ขาดให้ “เนสท์เล่” เป็นผู้ถือสิทธิ์เครื่องหมายการค้า “Nescafe” และ “เนสกาแฟ” แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ส่งผลให้สามารถกลับมาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ตามปกติ คดีนี้ยังไม่จบง่าย ๆ ต้องจับตาการไต่สวนในวันที่ 17 เมษายนอีกครั้ง ว่าศาลจะแก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ อีจันเศรษฐกิจจะรายงานความคืบหน้าให้ลูกเพจอีจันทราบอย่างใกล้ชิด