ก้าวไกล ขอเงื่อนไข เงินดิจิทัล 10,000 บาท จากรัศมี 4 กม. เป็นร้าน SMEs

สส.ก้าวไกล ขอรัฐบาลเปลี่ยนเงื่อนไข ใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท จากรัศมี 4 กิโลเมตร เป็นใช้เฉพาะร้าน SMEs

ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงรายละเอียดความคืบหน้าของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่า อาจมีการปรับเงื่อนไขให้สามารถใช้ได้ทั้งอำเภอ จากเดิมที่สามารถใช้ได้ในรัศมี 4 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะใช้ได้ไม่เกินไตรมาสแรกปี 67 แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รายละเอียดหลายส่วน เช่น ที่มาของงบประมาณ ร้านค้าที่ร่วมโครงการ ยังไม่มีความชัดเจน

ขณะที่ นายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก วรภพ วิริยะโรจน์ ถึงกรณีดังกล่าวระบุว่า [ โครงการเงินดิจิทัล ควรเปลี่ยนเงื่อนไขจาก 4 กิโลเมตร เป็น ใช้ได้กับร้านค้ารายย่อย SMEs เท่านั้นมากกว่า ]

4 กิโลเมตร เงื่อนไขที่ควรจะยกเลิกมากที่สุดสำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล แม้ว่า รมช.คลัง จะแย้มว่าจะเปลี่ยนให้มาเป็นใช้ภายในอำเภอเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าดีกว่ากำหนด 4 กิโลเมตรมากๆ แต่ก็ยังไม่ช่วยสำหรับ คนไทยที่ทำงานต่างจังหวัดอีกเป็นหลายล้านคน

ตัวเลขที่สะท้อนว่าคนไทยไม่ได้อาศัยอยู่ตามทะเบียนบ้านที่ชัดเจนที่สุดคือ คนเลือกตั้งนอกเขต ที่มีจำนวน 2.2 ล้านคน หรือ คิดเป็น 6% ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับคนไทยที่ต้องทำงานข้ามจังหวัด

ที่สำคัญหลายครอบครัว พ่อแม่ทำงานคนละจังหวัดกับลูกเป็นเรื่องปกติของคนไทย และจะให้เดินทางเสียเงินเป็นพันบาท เสียเวลาอย่างน้อยสองวัน เพื่อให้กลับไปใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท อาจจะทำให้คนกลุ่มนี้ต้องคิดหนัก

ถ้ารัฐบาลอธิบายว่าต้องการกระตุ้นให้คนไทยย้ายทะเบียนบ้านให้ตรงกับที่อยู่อาศัยจริง เพื่อให้สามารถบริหารภาครัฐให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น ยังจะเข้าใจได้มากกว่า

และถ้าวัตถุประสงค์จริงๆของเงื่อนไขนี้ คือ ต้องการกระจายการใช้เงินให้ทั่วถึง เงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลต้องเปลี่ยนคือ การกำหนดให้การใช้เงินดิจิทัล อย่างน้อยรอบแรก ต้องสำหรับเฉพาะร้านรายย่อย SMEs เท่านั้น ถึงจะตรงวัตถุประสงค์มากกว่า เพื่อให้มั่นใจว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ จะมีการหมุนเงินเข้ากระเป๋ารายย่อย ไม่ใช่ เข้ากระเป๋าเจ้าสัว กลุ่มทุนใหญ่ทั้งหมด

เพราะรัฐบาลเองก็ตั้งใจอยู่แล้วว่า คนได้รับเงินดิจิทัลมา ต้องนำเงินดิจิทัลไปหมุนกับร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีต่อเท่านั้น เพราะรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะได้รับภาษีกลับมาเพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นถ้าการกำหนดให้รอบแรกสำหรับร้านค้ารายย่อยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าเงินดิจิทัลจะไม่ได้กลับมาเป็นภาษีให้รัฐบาล ถ้าหมุนเงินรอบเดียว ทำให้ภาษีที่รัฐบาลจะได้ยังไม่พอ รัฐบาลสามารถกำหนดให้ร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลมาแล้วในรอบสอง ต้องหมุนเงินต่อกับร้านในระบบภาษีเป็นรอบสามอีกทีก็ยังได้

เพราะขอเพียงรอบแรกเป็นร้านรายย่อย อย่างน้อยรัฐบาลจะยังมั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นที่ฐานรากจากโครงการนี้ และ ยังได้รายได้เข้ารัฐตามที่ต้องการอยู่ดี

บางทีนโยบายรัฐบาลชุดนี้สามารถสะท้อนชุดความคิดที่ให้ความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ฐานราก SMEs และลดความเหลื่อมล้ำน้อยเกินไป หรือบางทีประชาชนอาจจะยังส่งเสียงไม่ดังพอ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เข็ดจากเราชนะ 1,000 ร้านค้าขู่ ไม่ร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท บล็อกเชน คืออะไร ทำไม เงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องจ่ายผ่านช่องทางนี้
คลิปอีจันแนะนำ
ตอบดราม่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท