ออมสิน นำร่องปล่อยกู้แสนล้าน หนุนธุรกิจรับพิษภาษี “ทรัมป์”

ไม่ทิ้ง! “พิชัย” สั่ง 7 แบงก์รัฐ หนุนธุรกิจรับพิษกำแพงภาษีสหรัฐฯ “ออมสิน” นำร่องปล่อยกู้ซอฟท์โลนแสนล้าน ช่วยเหลือด่วน

วันนี้ (15 พ.ค.68) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับธนาคารเฉพาะกิจ 7 แห่ง เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)​ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์)​ เป็นต้น

โดยขอให้ธนาคารเฉพาะกิจรัฐทั้ง 7 แห่ง เข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจส่งออกและซัพพลายเชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ

ขณะนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ ไม่มากไปกว่าประเทศอื่น ในทางกลับกัน ถ้าสามารถทำได้ดี ก็คาดว่าประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น หรือจากนี้ไปอีก 2 ปี จะทำให้เศรษฐกิจสะดุด โดยเฉพาะภาคการส่งออก ดังนั้น กล่มธุรกิจนี้ จึงเป็นเป้าหมายที่เราต้องเข้าไปดูแล

โดยสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการตามนโยบายผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อซอฟท์โลน (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) วงเงิน 100,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสิน กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขแตกต่างจากสินเชื่อซอฟท์โลนโครงการอื่น

เนื่องจากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ประกอบการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการชัดเจน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ 2.ธุรกิจซัพพลายเชน และ 3.ธุรกิจผู้ผลิตสินค้าที่ต้องมีการแข่งขันสูงกับสินค้านำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาพรวม

นอกจากนี้ เรายังต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อช่วยเหลือสำหรับผู้ที่ได้รับกระทบในวงกว้างด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธนาคารเฉพาะกิจควรเข้าไปช่วยเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการและรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อย ธุรกิจท่องเที่ยว และรวมถึงเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าจีนด้วย

“เราต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่ออยู่ในระดับคงที่และน้อยลง แปลว่า เศรษฐกิจชะลอตัว สถาบันการเงินเองขาดความมั่นใจ แต่ในส่วนแบงก์รัฐยังทำหน้าที่ได้ แปลว่าแบงก์รัฐตอบสนองต่อนโยบายทั้งเรื่องการปล่อยสินเชื่อและการช่วยเหลือลูกหนี้”

ทั้งนี้ ล่าสุดหนี้ครัวเรือนได้ลดลงจาก 91% ต่อจีดีพีในปีที่แล้ว เหลือ 86% ต่อจีดีพี แต่จำนวนหนี้ไม่ได้ลดลง หมายความว่า จีดีพีหรือตัวหารเราขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็จะเร่งแก้ไขหนี้เสียให้ได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 100,000 บาท