เอกชน ค้านหัวชนฝา รัฐบาลใหม่ขึ้นค่าแรง 450 บาท ย้ายฐานผลิตแน่

เอกชนรุมค้าน ค่าแรง 450 บาท ฝากรัฐบาลใหม่ทบทวนซ้ำ ขึ้นแบบค่อยไปค่อยไป ไปงั้นย้ายฐานการผลิตไป ‘เวียดนาม’ แน่

นโยบายหาเสียงของ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่ตอนนี้หลายฝ่ายจับตามอง คือ นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 450 บาท ซึ่งวานนี้ (26 พ.ค.66 ) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวบนเวทีระหว่างเข้าพบตัวแทนสภาอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ (Young FTI) เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะทางนโยบายจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่จะเป็นอนาคตของภาคอุตสาหกรรมไทย ว่า

“อยากทำความเข้าใจว่า ค่าแรง 450 บาท ไม่ใช่นโยบายที่เราคิดเอาเอง แต่เราเอาตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ผลิตภาพแรงงาน ถ้าคิดตั้งแต่ปี 2556 มาจนถึงปัจจุบัน ค่าแรงที่ควรจะเป็นคือเท่าไหร่ ตัวเลขอยู่ที่ใกล้เคียงกับ 450 บาท ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ได้มีแค่นโยบายเพิ่มค่าแรงแต่มาพร้อมกับแพคเกจนโยบายเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลดภาษีเอสเอ็มอี และมาตรการเพิ่มสภาพคล่องอื่นให้ไม่น้อยกว่าในสมัยที่มีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท”
นายพิธา กล่าว

ขณะเดียวกัน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องรอความชัดเจนว่า รัฐบาลใหม่จะมีนโยบายเรื่องค่าแรงอย่างไร เนื่องจากที่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นเพียงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง แต่ย้ำว่าการกำหนดค่าจ้างแรงงานมีกรอบกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม

“ฝากรัฐบาลใหม่ปรับขึ้นค่าแรงตามความเหมาะสม เป็นไปตามข้อกฎหมายและระเบียบที่วางไว้ ไม่ใช่ปรับขึ้นตามนโยบายหาเสียง เพราะถือเป็นสิ่งที่อันตรายมาก ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากค่าแรงเป็นองค์ประกอบสำคัญของต้นทุนการผลิตทั้งหมด สิ่งสำคัญคือต้องรับฟังอย่างทั่วถึง ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งไม่ได้มีแค่นายทุนรายใหญ่ แต่ยังมีผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอี อีกหลายรายที่แบกรับภาระต้นทุนที่สูง ทั้งค่าไฟ ค่าน้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน และค่าแรง ที่ปรับสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว”
นายพจน์ กล่าว

ด้าน นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เผยกับ ‘อีจัน’ ว่า กลุ่มผู้ลงคะแนนให้กับพรรคก้าวไกล ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งข้อมูลไตรมาสแรกของปี 2566 แรงงานทั้งระบบมีจำนวน 39.75 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานของเอกชน 23-24 ล้านคน เพราะต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทดังกล่าว

แต่มองว่าตอนหาเสียงก็เรื่องหนึ่ง ตอนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็เรื่องหนึ่ง เพราะหากใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำของ กทม.และปริมณฑลปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 353 บาทต่อวันเป็นเกณฑ์ จะพบว่า การปรับขึ้นเป็น 450 บาท นายจ้างต้องมีต้นทุนจากส่วนนี้ เพิ่มขึ้นอีกวันละ 97 บาทต่อคน หรือคิดเป็นประมาณ 30% จริงอยู่ที่เอกชนรายใหญ่อาจไม่กระทบมาก แต่สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี จะประคับประคองธุรกิจอย่างไรต่อไป

“เอกชนไม่ได้คัดค้าน การปรับขึ้นค่าแรง แต่ขอให้ปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และให้คณะกรรมการไตรภาคีที่ประกอบด้วย ตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้าง และตัวแทนภาครัฐ เป็นคนดูแลเรื่องนี้ เพื่อให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างอยู่ได้ เพราะนายจ้างใช่ว่าจะเป็นรายใหญ่ และมีศักยภาพเหมือนกับ บางจาก, ปตท. หรือ ปูนซิเมนต์ไทยทุกราย และบริษัทมหาชนในไทย ก็มีไม่ถึง 1,400 บริษัท ขณะที่ สัดส่วนของเอสเอ็มอี มีอยู่ถึง 90-95% เขาไม่สามารถปรับขึ้นค่าแรง หรือลดราคาสินค้าลงได้ สุดท้ายอาจต้องล้มหายตายจาก เพราะแข่งขันไม่ไหว อีกทั้ง ส่งผลกระทบต่อปัญหาเงินเฟ้อตามมาด้วย”
นายธนิต กล่าว

อีกทั้ง หากย้อนไปถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากเดิมที่ไทยเป็นประเทศแหล่งการลงทุนของโลก เป็นฐานการผลิตทั้งอุตสาหกรรมหนัง อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป เช่น ปลากระป๋อง รวมถึงรองเท้ากีฬาแบรนด์ดังระดับโลก แต่กลับต้องพลาดท่า เสียแชมป์การส่งออกของภูมิภาค ให้กับเวียดนามที่เดิมขณะนั้น ตามหลังเราอยู่ห่างๆ เพราะการปรับขึ้นค่าแรงนี้อีกด้วย

ซึ่งสอดคล้องกับ นายสมศักดิ์ อมรรัตนชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม ASIAN หรือ บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอาหารแช่เยือกแข็ง และอาหารสัตว์น้ำ ที่ออกหนังสือระบุว่า บริษัทเตรียมพร้อมลงทุนในประเทศเวียดนามหรือฟิลิปปินส์ เพื่อขยายโรงงานเพิ่มกำลังผลิต หรืออาจถึงขั้นเตรียมย้ายฐาน หากรัฐบาลใหม่นำนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวันมาใช้จริง คาดกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจทั้งระบบ

อีกทั้ง ยังเปิดทางให้ประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ มีความน่าสนใจกับนักลงทุนมากกว่า เนื่องจากเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรวัยทำงานมาก และมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานคุ้มค่ากว่าประเทศไทย อาจต้องยอมเอา Know-how อาเงินทุนไปลง เพื่อให้ธุรกิจแข่งขันได้ในระยะยาว

สำหรับกลุ่ม ASIAN เป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (Shelf stable food) ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้าใช้โอกาสร่วมงาน THAIFEX-ANUGA ASIA 2023

ค่าจ้างขั้นต่ำปรับแรง นักวิเคราะห์มอง 8 อุตสาหกรรม เจ็บตัวแค่ไหนส.อ.ท.เบรกรัฐบาลใหม่ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450-600 บาท
คลิปอีจันแนะนำ
พิธา ประกาศ MOU 23 ข้อ ร่วม 7 พรรค ตั้งรัฐบาล