อะเฮื้ออ! ‘ประกันสังคม’ แพงขึ้น มนุษย์เงินเดือน เตรียมควักจ่ายเพิ่ม

ไม่อ่อนโยน! เงินสมทบประกันสังคม 67 จ่อปรับเพดานผู้ประกันตน มาตรา 33 เตรียมจ่ายเพิ่ม สูงสุด 1,150 บาทต่อเดือน

ลุ้นเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 67 กระทรวงแรงงาน ผ่านสำนักงานประกันสังคม กำลังพิจารณาร่างกฎกระทรวงที่จะกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสำหรับการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 โดยการปรับปรุงนี้อาจส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงสุด ที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคมเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้มนุษย์เงินเดือน ตามมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมจำนวน 11,833,086 คน (เดือน ต.ค.66) ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น

อัตราการจ่ายเงินใหม่จะเป็นเท่าไร และจะเริ่มใช้เมื่อไหร่?

ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลในปี 67 นี้ ปรับปรุงฐานค่าจ้างที่ใช้คำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของผู้ประกันตน โดยมีแผนจะปรับเพดานค่าจ้างขั้นสูงสุดไปจนถึง 23,000 บาท ตามกรอบเวลาแบบขั้นบันได 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะที่ 1 (1 ม.ค.67 ถึง 31 ธ.ค.69) ค่าจ้างขั้นต่ำ 1,650 บาทต่อเดือน สูงสุด 17,500 บาท จ่ายเงินประกันสังคมได้สูงสุด 875 บาท

  2. ระยะที่ 2 (1 ม.ค.70 ถึง 31 ธ.ค.72) ค่าจ้างขั้นต่ำยังคงเท่าเดิม สูงสุด 20,000 บาท จ่ายเงินประกันสังคมได้สูงสุด 1,000 บาท

  3. ระยะที่ 3 (ตั้งแต่ 1 ม.ค.73 เป็นต้นไป) ค่าจ้างขั้นต่ำยังคงเท่าเดิม สูงสุด 23,000 บาท จ่ายเงินประกันสังคมได้สูงสุด 1,150 บาท

สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับการเพิ่มเติม เมื่อมีการปรับเพดานค่าจ้าง

ทั้งนี้ แม้ว่า ผู้ประกันตนจะต้องรับภาระเพิ่มขึ้น แต่พวกเขาจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มจากกองทุนประกันสังคม โดยคำนวณจากค่าจ้างที่ส่งเข้ากองทุน ดังนี้

  1. รับเงินทดแทน 50% ของค่าจ้างที่ส่งเข้ากองทุน เมื่อเจ็บป่วย

  2. รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อคลอดบุตร 50% ของค่าจ้างที่ส่งเข้ากองทุน

  3. รับเงินสงเคราะห์กรณีตาย 50% ของค่าจ้างที่ส่งเข้ากองทุน

  4. รับเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อว่างงาน 50% หรือ 30% ของค่าจ้างที่ส่งเข้ากองทุน

  5. รับเงินบำนาญชราภาพไม่ต่ำกว่า 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ส่งเข้ากองทุน ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับบำนาญ 20% ของค่าจ้าง และผู้ที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ทุก 12 เดือนที่ส่งเงินสมทบ

ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพจะมีการเพิ่มขึ้นอัตโนมัติ เนื่องจากมีการปรับฐานในการคำนวณเงินสมทบ ซึ่งทำให้เงินสมทบที่จ่ายเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพเพิ่มขึ้นด้วย

ตัวอย่างผลประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับในปี 67

  1. เงินทดแทนกรณีว่างงาน ผู้ประกันตนที่มีค่าจ้างเกิน 17,500 บาท ต้องส่งเงินสมทบ 875 บาทต่อเดือน (เพิ่มจาก 750 บาท) และจะได้รับเงินทดแทนเพิ่มเป็น 8,750 บาทต่อเดือน (จากเดิม 7,500 บาท)

  2. เงินทดแทนกรณีเจ็บป่วย เพิ่มเป็น 292 บาทต่อวัน (จากเดิม 250 บาทต่อวัน)

  3. เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพ เพิ่มเป็น 8,750 บาทต่อเดือน (จากเดิม 7,500 บาทต่อเดือน)

  4. เงินสงเคราะห์กรณีลาคลอด เพิ่มเป็น 26,250 บาทต่อเดือน (จากเดิม 22,500 บาทต่อเดือน)

  5. เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต เพิ่มเป็น 35,000 บาทต่อเดือน (จากเดิม 30,000 บาทต่อเดือน)

เงินบำนาญ: ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบ 15 ปี จะได้รับ 3,500 บาทต่อเดือน (เพิ่มจาก 3,000 บาท) และผู้ที่ส่งเงินสมทบมากกว่า 15 ปี จะได้รับ 6,125 บาทต่อเดือน (เพิ่มจาก 5,250 บาท)

สำหรับเงินบำเหน็จชราภาพจะเพิ่มขึ้นอัตโนมัติ เนื่องจากมีการปรับฐานในการคำนวณเงินสมทบสำหรับสิทธิชราภาพ กฎกระทรวงฉบับปัจจุบัน (พ.ศ.2538) อ้างอิงจากกฎหมายประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดค่าจ้างสูงสุดที่ 15,000 บาทสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 นับตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.38 ถึงปัจจุบัน

ร่างกฎหมายใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณามีเป้าหมายหลัก ได้แก่

  1. ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและเป็นไปตามมาตรฐานสากล

  2. สร้างความเพียงพอของสิทธิประโยชน์เป็นเงินทดแทน

  3. เพิ่มรายได้ในกองทุนเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่สูงขึ้น

  4. กระจายรายได้จากผู้มีรายได้สูงไปยังผู้มีรายได้น้อยในระบบประกันสังคม

  5. สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบประกันสังคม

ส่วนขั้นตอนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำและสูงสำหรับการคำนวณเงินสมทบประกันสังคมได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการประกันสังคมในกลางปี 65 กระทรวงแรงงานจึงร่างกฎกระทรวงและเปิดรับความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ law.go.th ตั้งแต่ 1 ถึง 28 ก.พ.66 โดยมีผู้แสดงความคิดเห็น 55,584 คน แม้ร่างกฎหมายยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่เป็นการเตรียมการแก้ไขกฎหมาย ต่อไปจะมีการปรับปรุงร่างตามข้อเสนอและเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ตามกระบวนการนิติบัญญัติ