ภูมิธรรม เบรกหัวทิ่ม! ขึ้นน้ำตาล 4 บาท ชาวไร่อ้อย ยืนยันจำเป็นต้องปรับ

‘ภูมิธรรม’ เบรกขึ้นราคาน้ำตาล 4 บาท ชง ‘ครม.’ วันนี้ (31 ต.ค.66) ขึ้นบัญชีสินค้าควบคุม ห้ามขายเกิน กก.ละ 25 บาท ชาวไร่อ้อย ยืนยันจำเป็นต้องปรับ

ที่สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศปรับขึ้นราคากิโลละ 4 บาท เหตุผลหลักก็คือ ต้องการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่การประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าบริการ (กกร.) ซึ่งมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน วานนี้ (30 ต.ค.66)

เห็นพ้องต้องกัน และมีมติกำหนดให้ น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม ภายใต้การดูของกระทรวงพาณิชย์ และกำหนดมาตรฐานการควบคุม โดยจะเสนอมติเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (31 ต.ค.66) จากนั้นจะประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเบื้องต้นประสานงานแล้ว และจะประกาศเผยแพร่ไม่เกินวันที่ 1 พ.ย.66

ทั้งนี้ หลังกำหนดให้น้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุมมีมาตรการ 2 ส่วน ในการจัดจำหน่าย ประกอบด้วย 1.มาตรการควบคุมราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ให้น้ำตาลทรายขาวไม่เกินกิโลกรัมละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ไม่เกินกิโลกรัมละ 20 บาท

และควบคุมราคาขายปลีกในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น้ำตาลทรายขาวไม่เกินกิโลกรัมละ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ไม่เกินกิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งการกำหนดราคากำกับดูแลสำหรับการจำหน่ายในจังหวัดอื่นๆ จะพิจารณาตามโครงสร้างอื่นๆ ต่อไป

2.การควบคุมการส่งออก โดยกำหนดให้การจำหน่ายเพื่อการส่งออกจำนวน 1 ตันขึ้นไปต้องขออนุญาตต่อคณะอนุกรรมการที่ได้จัดตั้งขึ้น ซึ่งมีเลขาสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน และมีตัวแทนจาก สอน.เป็นเลขาธิการ

รวมถึงตัวแทนจาก ‘กรมการค้าภายใน’ เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ รวมถึงตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการนี้จะดูแลและกำหนดวิธีการ หลักเกณฑ์ต่างๆ และเงื่อนไขการส่งออกน้ำตาลทราย เพื่อให้ราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศมีความเหมาะสมและเป็นธรรม และมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ

ขณะที่ มุมของชาวไร่อ้อยเตรียมจะเคลื่อนไหว โดยชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน และสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ระบุว่า

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศปีละประมาณ 200,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้กับอาชีพเกษตรกรพี่น้องประชาชนร่วม 2,000,000 คน ขณะที่ต้นทุนชาวไร่อ้อยช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมากจากปุ๋ยที่แพงขึ้นสามเท่าตัว ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นสูงมาก น้ำมันก็อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และยังเผชิญกับภาวะภัยแล้ง

ทำให้ผลผลิตอ้อยที่เคยมี 120 ล้านตัน ฤดูการผลิตปี 2566/67 ที่จะเปิดหีบปลายปีนี้อาจได้ไม่ถึง 75 ล้านตัน ชาวไร่ต้องเป็นหนี้เป็นสินธนาคารเพื่อการเกษตรมากมาย ขณะที่นายทุนโรงงานเครื่องดื่ม โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบ ใช้น้ำตาลถูกมาตลอดและได้กำไรไปมหาศาลรวยเป็นมหาเศรษฐี ขณะที่ชาวไร่มีแต่ยากจนลง

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาราคาน้ำตาลทรายลดลงแต่เครื่องดื่มน้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง อุตสาหกรรมที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบไม่เคยลดราคาลงให้กับประชาชนเลย และสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำตาล ประชาชนคนไทยเราบริโภคน้ำตาลถูกที่สุดแล้ว ไม่มีประชาชนประเทศไหนบริโภคน้ำตาลทรายได้ถูกสุดเท่ากับคนไทยและในชีวิตประชาชนก็บริโภคน้ำตาลโดยตรงเดือนละไม่ถึง 1 กิโลกรัม (กก.) ดังนั้น ประชาชนจะไม่เดือดร้อนจากการปรับขึ้นราคาครั้งนี้

ทั้งนี้ การปรับขึ้นราคาหน้าโรงงานเพื่อใช้คำนวณราคาอ้อยฯ จะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อพี่น้องชาวไร่อ้อยและกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งความเป็นจริงทุกวันนี้ราคาน้ำตาลในตลาดได้มีการจำหน่ายกันในราคาประมาณ 26 บาทต่อ กก.แล้ว แต่ผลประโยชน์ทั้งหมดชาวไร่อ้อยและกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายไม่ได้รับประโยชน์ ไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งที่เพิ่มขึ้นกันเลย ประโยชน์จากเงินที่เพิ่มขึ้นไปตกอยู่กับกลุ่มผู้ค้าน้ำตาลกันหมด

คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จึงได้พิจารณาแล้วว่า เพื่อสอดคล้องกับต้นทุนของพี่น้องชาวไร่อ้อยที่เพิ่มขึ้นจึงจำเป็นต้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีการประกาศปรับราคาน้ำตาลทรายที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยให้กับพี่น้องชาวไร่อ้อยเป็นไปตามข้อเท็จจริงของราคาที่มีการขายกันในตลาดทุกวันนี้

เพื่อให้พี่น้องชาวไร่อ้อยและกองทุนอ้อยฯ จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำตาลที่มีการขายกันอยู่ทุกวันนี้ พวกเราชาวไร่อ้อยจึงขอให้พี่น้องประชาชนและส่วนราชการเข้าใจถึงความเดือดร้อน การเสียเปรียบของพี่น้องชาวไร่อ้อยที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สายหวาน เศร้า! ‘น้ำตาลทราย’ จ่อขึ้นราคา กิโลกรัมละ 4 บาท
คลิปอีจันแนะนำ
คลิปโซเชียล วงประหลาดกลางฟ้า จ.สมุทรปราการ