ครึ่งหนึ่งคนไทย รายได้น้อยกว่า 21,262 บาท สวนทางค่าครองชีพ

มนุษย์เงินเดือน แบกค่าครองชีพบานเบอะ สวนทางรายได้ ครึ่งหนึ่งคนไทย ได้น้อยกว่า 21,262 บาท หนุนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยพุ่งสูง

สังคมไทยบอบบางและเหลื่อมล้ำสูง จากความไม่เสมอภาคทั้งด้านการเงิน รายได้ ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงโอกาสและทรัพยากรต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ โอกาสและสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตก็จะถูกจำกัดตาม

กระทบต่อความเหลื่อมล้ำด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา ทรัพยากรทางสาธารณสุข กลายเป็นปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ความยากลำบากในการเข้าถึงอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย การเลือกตั้งและการเมือง การเข้าถึงความยุติธรรมและความเท่าเทียม และการรับรู้และความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน

และต่อให้สังคมไทยเดินหน้าไปสู่สังคมที่มีความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืนก็จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและส่วนท้องถิ่น สร้างความเข้าใจและการยอมรับว่าทุกคนมีค่าและสิทธิ์เท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเหยียดหยามหรือละเมิดกัน ควรส่งเสริมความเข้าใจ และการสร้างสันติภาพร่วมกันระหว่างกลุ่มคนที่มีความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม หรือความเชื่อต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก World Inequality Database (WID) ที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับรายได้และทรัพย์สินต่างๆ ของประชากร นอกจากนี้ ยังประกอบไปด้วยข้อมูลเกี่ยวกับการเสียภาษี และการกระจายรายได้ในสังคม ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัยที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และสังคมวิทยาจากหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ เพื่อให้ผู้ใช้งาน เช่น นักวิจัย นักการเมือง นักประชากรศาสตร์ และผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาและวิเคราะห์ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจได้ในมุมมองที่หลากหลาย

สำหรับประเทศไทย ปี 2564 พบว่า 50% ของประชากรมีรายได้น้อยกว่า 21,262 บาท/เดือน/คน ขณะที่ กลุ่มรายได้สูงมีเพียง 10% ของประชากรไทยเท่านั้น ที่มีรายได้มากกว่า 78,905 บาท/เดือน/คน และ 1% ของประชากรไทย ที่มีรายได้มากกว่า 693,459 บาท/เดือน/คน

ด้านข้อมูลจาก เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคก้าวไกล เสนอยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำ สู่ค่าจ้างเพื่อตำรงชีวิต ซึ่งถอดบทเรียนมาจากการวิจัยร่วมกับคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า อัตราค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่ราว 10,000 บาท/เดือน

แต่เฉลี่ยครอบครัวไทยมีค่าต้นทุนที่จำเป็นในชีวิตต่อเดือน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่า เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย ค่าการสื่อสาร (ค่าโทรศัพท์, อินเตอร์เน็ต) ค่าสาธารณูปโภค (น้ำประปา, ไฟฟ้า อื่นๆ) สมทบประกันสังคมและภาษี ปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ และค่าดูแลสมาชิกในครอบครัว รวมถึง ต้นทุนรองรับเหตุการณ์ไม่แน่นอน เช่น ค่าอุปกรณ์รองรับโรคระบาด (หน้ากากอนามัย, เจลล้างมือ)

โดย อายุระหว่าง 18-34 ปี อยู่ที่ 21,500-23,500 บาท ส่วนอายุระหว่าง 35-49 ปี อยู่ที่ 29,800-31,800 บาท และอายุ 50 ปีขึ้นไป มากกว่า 35,000 บาท ดังนั้น  พรรคก้าวไกล จึงพยายามผลักดันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท/วัน ทันทีใน 100 วันแรกของรัฐบาลก้าวไกล

ซึ่งบรรจุอยู่ในกฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน โดยการผลักดันนโยบายผ่านกลไกนิติบัญญัติ ของระบบรัฐสภาโดยผู้แทนราษฎรของพรรคต่อไป

อาทิ ให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานคุ้มครองแรงงานภาครัฐ, เพิ่มวันหยุดพักผ่อนประจำปีขั้นต่ำ 10 วันสะสม, ลาคลอดได้ 180 วัน โดยได้รับเงินเดือน, ทำงาน 5 วัน หรือ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ เกินต้องได้โอที, ยกเลิกซับบรรจุพนักงานรายวันเป็นรายเดือน, ค่าจ้างต้องเพิ่มทุกปี ทั้งขั้นต่ำทั้งตามอายุงาน และห้ามเลือกปฏิบัติ เริ่มใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงาน เช่น ห้ามจำกัดอายุ ห้ามบังคับตรวจ HIV ก่อนรับทำงาน

การปรับค่าแรงนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เพื่อให้ถูกต้องและเป็นธรรม เช่น สภาพตลาดแรงงาน การขาดแคลนหรือมากเกินไปของคนงานในตลาด หากคนงานขาดแคลนและอาชีพที่ต้องการทักษะสูง อาจจะส่งผลให้ค่าแรงเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ สภาพเศรษฐกิจ รวมถึงสิ่งแวดล้อมกฎหมายและกฎระเบียบอีกด้วย

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) พบว่า ปี 2565 รายได้เฉลี่ยต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 248,468 บาท/คน/ปี หรือ 20,705 บาท/คน/เดือน หากเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบข้อมูลดังนี้

ปี 2560 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 225,095 บาท/คน/ปี หรือ 18,757 บาท/คน/เดือน

ปี 2561 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 236,815 บาท/คน/ปี หรือ 19,734 บาท/คน/เดือน

ปี 2562 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 243,705 บาท/คน/ปี หรือ 20,308 บาท/คน/เดือน

ปี 2563 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 224,962 บาท/คน/ปี หรือ 18,746 บาท/คน/เดือน

ปี 2564 รายได้ต่อหัวคนไทย อยู่ที่ 232,160 บาท/คน/ปี หรือ 19,346 บาท/คน/เดือน

‘อีจัน’ จึงขอฝากความหวังไปถึงรัฐบาลชุดใหม่ ในการสะสางความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีมานานและเป็นปัญหาเรื้อรัง ให้ทุเลาเบาบางลง

หอการค้าไทย นัดถก ‘พิธา’ ปมขึ้นค่าแรง 450 บ. พรุ่งนี้ (31 พ.ค.66)ส.อ.ท.เบรกรัฐบาลใหม่ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450-600 บาทเอกชน ค้านหัวชนฝา รัฐบาลใหม่ขึ้นค่าแรง 450 บาท ย้ายฐานผลิตแน่
คลิปอีจันแนะนำ
ช็อตหวาน หมอชลน่าน พิธา สยบลือแตกหัก!