
คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว
กรณีประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เมื่อประมาณตีสามของวันนี้ (3 เม.ย.68) ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 36% สำหรับสินค้าจากประเทศไทยที่นำเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกา ถือเป็นมรสุมยักษ์ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการไทยในภาคการผลิต และผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลาง หรือ SMEs บวกกับเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอยทำให้ตลาดต่างๆ หดตัวลง ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาการส่งออกอย่างรุนแรง
เนื่องจากการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน การลงทุนภายในประเทศหยุดชะงักเพื่อรอดูความชัดเจนและท่าทีของมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกาและสงครามการค้าโลก รวมถึงการไหลบ่าของสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาในตลาดไทย ทำให้การแข่งขันในประเทศยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น วิกฤตการณ์ทางการค้านี้อาจส่งผลให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของ GDP ต่ำกว่า 2% ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยังไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรมใดๆ ที่จะออกมารับมือหรือตอบโต้กับมาตรการภาษีของทรัมป์ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการเจรจาทางการค้ากับสหรัฐ มาตรการในการปฏิรูปด้านโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ มาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย และมาตรการในการหาตลาดใหม่เพิ่มเติม เป็นต้น
สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ในปี 2567 ไทยส่งออกไปยังสหรัฐคิดเป็นมูลค่า 5.49 หมื่นล้านเหรียญ หรือคิดเป็น 18.3% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากกว่า 3.6 หมื่นล้านเหรียญ จากมาตรการภาษีของทรัมป์ คาดว่าการส่งออกจากประเทศไทยไปยังสหรัฐจะลดน้อยลงเนื่องจากจะมีต้นทุนและราคาที่สูงขึ้น และบางส่วนจะถูกทดแทนด้วยสินค้าที่ทำการผลิตในสหรัฐเอง
มาตรการภาษีของสหรัฐถือเป็นมรสุมยักษ์ใหญ่อีกหนึ่งลูกที่โถมเข้ามามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และซ้ำเติมประเทศจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่จะเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของคนเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครที่มีตึกสูงระฟ้ามากมาย ภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบทางจิตใจต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงที่จะต้องหวาดระแวงต่อความไม่ปลอดภัยของตนเองไม่ว่าจะพักอยู่ในคอนโดมีเนียมหรือนักท่องเที่ยวที่จับจ่ายอยู่ในศูนย์การค้าที่เปิดตัวอย่างมากมายในเมืองหลวงอันศิวิไลซ์แห่งนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถล่มของตึก สตง. ที่มีมูลค่าโครงการมากกว่า 2,000 ล้านบาทและมีจำนวนชั้นสูงถึง 33 ชั้น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 70 ราย โดยจากการตรวจสอบของภาครัฐต่อแบบแพลน การออกแบบ และวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กเส้นที่นำมาใช้เป็นโครงสร้างของตึก พบว่ามีเหล็กหลายรายการที่มีคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดและอาจเป็นเหตุที่ทำให้ตึก สตง. เกิดการพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังมีคอนโดมีเนียม อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า ที่ได้รับผลจากแผ่นดินไหวทำให้เกิดการแตกร้าวของผนัง เสาและฝ้าเพดานต่างๆ สร้างผลกระทบทางจิตใจและความเชื่อมั่นของคนเมืองกรุงที่ต้องอาศัยอยู่กับวิถีชีวิตประจำวันที่ห้อมร้อมด้วยตึกสูงเป็นจำนวนมาก รวมถึงการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทั้งใต้ดินและบนดิน เพราะผู้คนเหล่านี้ตระหนักได้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหว ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไกลตัวเราอีกต่อไป

แลรี่ เชา (Larry Chao) ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ Chao Group Limited บริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดการและเปลี่ยนแปลงองค์กร กล่าวว่า ในระยะสั้น ผู้คนจะตื่นกลัวเกี่ยวกับแผ่นดินไหว พวกเขาจะระมัดระวังสถานที่ที่และเตรียมตัวรับมือหากมีสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น แต่ในระยะยาวแล้ว ประชาชนจะลืมปรากฎการณ์ดังกล่าวตราบเท่าที่ยังไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ ในภาคธุรกิจก็ยังจะดำเนินต่อไปโดยไม่หยุดชะงักเนื่องจากคนทำงานได้เตรียมตัวที่จะทำงานจากบ้าน ซึ่งต่อจากนี้ไป มันน่าจะเป็นเรื่องของการฟื้นคืนความเชื่อมั่นซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่ต้องเกิดขึ้น
“ผมคิดว่าการประกาศขึ้นภาษีวันประกาศอิสรภาพ (Liberation Day Tariffs) ที่จะขัดขวางการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยและชีวิตของคนไทยและทั่วโลกจะสร้างผลกระทบยิ่งกว่าวิกฤตแผ่นดินไหวเสียอีก ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ถึงผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ที่มีต่อเศรษฐกิจและระเบียบโลก ทรัมป์เองก็ดูเหมือนจะไม่มีแผนการที่แน่ชัด เพียงแต่ต้องการแสดงถึงพลังอำนาจเหนือผู้นำอื่นๆ และต้องการให้ประเทศอื่นๆ คุกเข่าศิโรราบต่อหน้าสหรัฐอเมริกา ทรัมป์อาจจะเล่นตลก หรืออาจจะกำหนดอัตราภาษีที่รุนแรงแบบครอบคลุม หรืออาจจะทั้งสองอย่างรวมกันก็เป็นได้”
มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์ที่สูงถึง 36% ที่มีต่อประเทศไทยค่อนข้างรุนแรงเกินกว่าที่ประชาชนคาดหวัง ความท้าทายเร่งด่วนคือการทำความเข้าใจและเจรจาในกรณีใดที่สหรัฐอเมริการู้สึกว่าการค้ากับประเทศไทยไม่ยุติธรรมมากกว่าจะเป็นการตอบโต้ต่อกัน สิ่งนี้เป็นขั้นตอนแรกในการจำกัดผลกระทบเชิงลบของมาตรการภาษีนี้ที่มีต่อการเติบโตของ GDP ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น สินค้าอิเลกโทรนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และปิโตรเคมี ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ต้องมองไปยังด้านที่สามารถเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างสมดุลทางการค้า เช่น พลังงาน และผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะกำหนดให้มีการเจรจาระหว่างสองประเทศ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการโตเพียงแค่ 3.2% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 มาตรการทางภาษีใดๆ ของทรัมป์คาดว่าจะมีผลกระทบในเชิงลบที่ซ้ำเติมการเติบโตของ GDP ไทยที่มีความเฉื่อยชาอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ภาษีศุลกากรของทรัมป์ที่สูงกว่า 10% อาจทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 1% สำหรับประเทศไทยแล้ว เรายังไม่มีการลงทุนที่มากพอที่จะมาชดเชยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจนี้ ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ควรอยู่นิ่งและคาดหวังลมๆ แล้งๆ ถึงการผ่อนปรนใดๆ โดยไม่มีการเจรจากันอย่างจริงจังกับสหรัฐอเมริกา

ดร. ทอย อัครินทร์ เทพประสิทธิ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษา เอ็มวีพี คอนซัลท์แทนท์ จำกัด ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ องค์กรภาครัฐและเอกชน มองว่าการขึ้นภาษีของทรัมป์ในครั้งนี้ เป็นการดึงลงโต๊ะเจรจาเพื่อลากไทยกลับมาคุยในกรอบที่อเมริกาจะแทรกแซงหรือได้ประโยชน์บางอย่าง ดังนั้น อาจจะมีเวลาอีกสักระยะในการยืดออกไปก่อนเพื่อพูดคุยเจรจา
“มาตรการภาษีดังกล่าว อาจดูน่ากังวล น่าสั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหว แต่ข้อดีคือ เราก็จะได้ปรับตัวเหมือนสถานการณ์แผ่นดินไหว ปรับเกมธุรกิจใหม่ ปรับตลาดใหม่ ผมกลับมองว่าจะเปิดช่องทางให้ไทยปรับรูปแบบการค้า การลงทุน และการค้าตลาดในอาเซียน กับเอเชีย อินเดีย จีน หรือยุโรป อาจมีแนวโน้มกลับมาสดใส น่าสนใจกว่า”
ดร. ทอยยังได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว ไว้ดังนี้ ความตระหนักรู้และการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ประชาชนให้ความสำคัญกับการเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหวมากขึ้น เช่น การฝึกซ้อมอพยพ การจัดเตรียมอุปกรณ์ฉุกเฉิน และการวางแผนการติดต่อสื่อสารในกรณีฉุกเฉิน ความตระหนักรู้ดังกล่าว น่าจะกระตุ้นให้บริษัทที่เกี่ยวข้อง เช่น ประกันวินาศภัย การก่อสร้าง ธนาคาร อุตสาหกรรม หรือธุรกิจรับตรวจสอบอาคาร อาจต้องปรับตัวเตรียมแผนรับมือความเสี่ยงนี้ ซึ่งแน่นอนว่า จะเกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่เพิ่มขึ้น นำเสนอเข้าสู่ตลาด และเป็นที่ต้องการของลูกค้า
นโยบายภาครัฐและแนวทางกฎหมายน่าจะต้องปรับตัวโดยเกิดกฎหมายใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามาเพื่อรับมือ เกิดการปฎิรูปกฎหมายและกระบวนการต่างๆ มากยิ่งขึ้น
ผู้บริโภคที่มีศักยภาพอาจเริ่มมองหาการกระจายตัวออกไปอยู่ในจังหวัดอื่นๆ หรือหัวเมืองใหญ่มากขึ้น แนวโน้มการเช่าอยู่ในกรุงเทพฯ อาจมีเพิ่มขึ้นมากกว่าการซื้อ แต่ปรากฎการณ์ดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างฉับพลันแต่ต้องใช้เวลาเพราะการย้ายที่อยู่อาศัยยังมีอีกหลายปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบต่อการตัดสินใจ
กล่าวโดยสรุปแล้ว ประชาชนจะมีความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้น แต่หากภาครัฐไม่ได้ใช้โอกาสจากวิกฤตการณ์นี้ในกระบวนการสื่อสารเพื่อให้คนตระหนักถึงภัยธรรมชาติ ผ่านไปอีกสักพักวิถีชีวิตของประชาชนก็จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติและไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในภาคธุรกิจอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงมากกกว่าและนำหน้าประชาชนในประเด็นดังกล่าวไปก่อน โดยมาตรการภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และความไม่แน่นอนของการค้าโลก ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลทำให้ภาครัฐและเอกชนจะต้องปรับตัวเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือและดำรงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี