ขึ้นบัญชี ‘น้ำตาลทราย’ เป็นสินค้าควบคุม ส่งออกเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้น้ำตาลทราย เป็นสินค้าควบคุมนาน 1 ปี มีผล 31 ต.ค.66 ส่งออกเกิน 1 ตัน ต้องขออนุญาต

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้น้ำตาลทราย เป็นสินค้าควบคุม เพื่อดูแลการกำหนดราคา บังคับใช้นาน 1 ปี ให้มีผลทันที 31 ต.ค.66

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกำหนดสินค้าควบคุมปี 66 เพิ่ม 1 รายการ ได้แก่ น้ำตาลทราย ตามมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เมื่อวันที่ 30 ต.ค.66 หลังสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน 4 บาทต่อกิโลกรัม

ซึ่งมีผลกระทบ 2 ส่วน ในการจัดจำหน่าย ประกอบด้วย 1.มาตรการควบคุมราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายหน้าโรงงาน ให้น้ำตาลทรายขาวไม่เกินกิโลกรัมละ 19 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ไม่เกินกิโลกรัมละ 20 บาท และควบคุมราคาขายปลีกในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล น้ำตาลทรายขาวไม่เกินกิโลกรัมละ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ไม่เกินกิโลกรัมละ 25 บาท ซึ่งการกำหนดราคากำกับดูแลสำหรับการจำหน่ายในจังหวัดอื่นๆ จะพิจารณาตามโครงสร้างอื่นๆ ต่อไป

2.การควบคุมการส่งออก โดยกำหนดให้การจำหน่ายเพื่อการส่งออกจำนวน 1 ตันหรือ 1,000 กก.ขึ้นไป ต้องขออนุญาตต่อคณะอนุกรรมการที่ได้จัดตั้งขึ้น ซึ่งมีเลขาธิการ สอน. เป็นประธาน มีรองอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นรองประธาน และมีตัวแทนจาก สอน.เป็นเลขาธิการ ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการในการกำกับดูแลต่อไป เพื่อให้น้ำตาลทรายมีเพียงพอใช้ในประเทศ และไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลทรายของไทย และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.66 ที่ผ่านมา

ขณะที่ ‘กระทรวงพาณิชย์’ เผยยอดการส่งออกของไทยในเดือน ก.ย.66 ว่ามีมูลค่า อยู่ที่ 25,476.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 888,666 ล้านบาท ขยายตัว 2.1% โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะดาวรุ่งอย่าง ‘น้ำตาลทราย’ ที่พีคสุดในรอบ 3 เดือน ขยายตัวขึ้น 16.3% มูลค่า 163 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 5,686 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในตลาดโลก ประเทศบราซิลเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกน้ำตาลดิบชั้นนำของโลก ตามมาด้วยประเทศไทยและออสเตรเลีย ขณะเดียวกัน น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ประเทศไทยครองตำแหน่งผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก โดยมีบราซิล และสหภาพยุโรปตามมาติดๆ โดยประเทศที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน

ด้าน นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ นายกสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ว่า จากการหารือสมาคมชาวไร่อ้อยเห็นด้วยกับการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาแก้ปัญหาระยะยาว และระหว่างนี้จะไม่มีการปิดโรงงานหรือระงับการขนน้ำตาลออกจากโรงงาน

และยืนยันว่า ไทยมีน้ำตาลเพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอ จากผู้ประกอบการกว่า 50 โรงงาน เนื่องจากมีการควบคุมการเบิกจ่ายน้ำตาลอย่างเข้มงวด และขณะนี้ยังไม่พบการลักลอบส่งออกน้ำตาล

“หลังจากนี้จะไปแจ้งกับชาวไร่อ้อยว่า จะไม่มีการปิดโรงงาน และไทยมีน้ำตาลเพื่อการบริโภคอย่างเพียงพอ จากผู้ประกอบการกว่า 50 โรงงาน มีการควบคุมการเบิกจ่ายน้ำตาลอย่างเข้มงวด และขณะนี้ยังไม่พบการลักลอบส่งออกน้ำตาล” นายกำธร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ภูมิธรรม เบรกหัวทิ่ม! ขึ้นน้ำตาล 4 บาท ชาวไร่อ้อย ยืนยันจำเป็นต้องปรับภูมิธรรม เบรกหัวทิ่ม! ขึ้นน้ำตาล 4 บาท ชาวไร่อ้อย ยืนยันจำเป็นต้องปรับ
คลิปอีจันแนะนำ
คลิปโซเชียล เป็นเภสัช ก็ไม่รอด! ตม.เกาหลี