แบงก์ชาติ ถามแล้ว ลูกหนี้บัตรเครดิตไม่ติด ขึ้นยอดจ่ายขั้นต่ำเป็น 8-10%

จริงเปล่า? ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ถามแล้ว ลูกหนี้บัตรเครดิตไม่ติด ถ้าขึ้นยอดจ่ายขั้นต่ำเป็น 8-10%

กรณีการปรับการชำระอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำบัตรเครดิต ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ดำเนินมาตรการช่วงโควิด-19 โดยปรับลดอัตราชำระขั้นต่ำที่ 5% จากเดิม 10% โดยจะจบมาตรการในปี 66 และจะทยอยปรับอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ 8% ในปี 67 และ 10% ในปี 68 ซึ่ง ธปท.ได้แจ้งให้ผู้ให้บริการทั้งสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) แจ้งให้ลูกหนี้รับทราบถึงเกณฑ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากพิจารณาดูตัวเลขจำนวนบัญชีที่คาดว่า จะมีผลกระทบจากการปรับอัตราชำระขั้นต่ำ จะพบว่ามีจำนวนบัญชีไม่ต่ำกว่า 70-80% ที่สามารถชำระขั้นต่ำเกิน 10% อย่างไรก็ตาม ภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ยอมรับว่าจะมีลูกค้าบางกลุ่มที่ชำระไม่ได้ ซึ่ง ธปท.จะพยายามปิดจุดอ่อน และมีมาตรการดูแล

“ธปท.ได้สื่อสารกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตที่มีอยู่ประมาณ 10 เจ้าอย่างชัดเจน โดยช่วงต้นไตรมาส 4/66 จะเร่งให้สถาบันการเงินทุกราย เร่งสื่อสารการปรับเรทดังกล่าวกับลูกหนี้” น.ส.สุวรรณี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

คนเป็นหนี้กุมขมับ! ‘บัตรเครดิต’ เตรียมขึ้นยอดจ่ายขั้นต่ำปี 67 เป็น 8%

อย่างไรก็ตาม แม้ลูกหนี้ต้องผ่อนชำระค่างวดมากขึ้น แต่สามารถนำค่างวดไปตัดชำระเงินต้นได้มากขึ้น จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย และสามารถปิดจบหนี้ได้เร็ว โดย ธปท. ให้สถาบันการเงินเร่งสื่อสารการปรับเกณฑ์ดังกล่าวให้กับลูกค้าและเตรียมการดูแลลูกหนี้ที่ไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราการจ่ายได้

อาทิ 1.การปรับวงเงินบัตรเครดิตมาเป็นสินเชื่อแบบมีระยะเวลา (Term Loan) โดยการเปลี่ยนสินเชื่อนั้น สถาบันการเงินไม่สามารถคิดดอกเบี้ยเพิ่มจาก 16% ได้ เพราะถือว่าสัญญาที่เริ่มต้นทำบัตรเครดิต แม้มีการโอนเปลี่ยนสินเชื่อประเภทหนี้ ซึ่งสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) จะมีเพดานดอกเบี้ยอยู่ที่ 25%

และ 2.การกำหนดงวดการจ่ายให้สอดคล้องกับตามความสามารถการชำระหนี้ของลูกค้า และ 3.ลูกหนี้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นหนี้ค้างชำระเกิน 120 วัน เสนอช่องทางเข้าร่วมคลินิกแก้หนี้ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ภาระรายเดือนอยู่ในระดับที่สามารถชำระได้ ซึ่งภายหลัง ธปท.มีการปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้เข้าโครงการ พบว่ามีลูกค้าเข้ามาสมัครเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากเดิมเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-5,000 เคส เพิ่มเป็น 15,000-16,000 เคส

“การที่ ธปท. เข้ามาควบคุมและทยอยปรับมาตรการ เนื่องจากถ้าลูกหนี้จ่ายขั้นต่ำต่อเนื่องจะมีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แม้ดอกเบี้ยบัตรเครดิตจะต่ำกว่าสินเชื่อส่วนบุคคลประเภทอื่น ซึ่งเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตปัจจุบันอยู่ที่ 16%” น.ส.สุวรรณี กล่าว

ทั้งนี้ แสดงตัวอย่างวงเงินกู้ 80,000 บาท ดอกเบี้ย 16% ต่อปี เช่น 1.ถ้าลูกหนี้ไม่รูดบัตรเพิ่มเติม และจ่ายชำระขั้นต่ำ 5% จะปิดหนี้ได้ประมาณ 10 ปี 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ยรวมประมาณ 28,000 บาท 2.ถ้าจ่ายชำระขั้นต่ำ 8% จะปิดหนี้ได้ประมาณ 6 ปี 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ยรวมประมาณ 16,000 บาท และ 3.ถ้าจ่ายชำระขั้นต่ำ 10% จะปิดหนี้ได้ประมาณ 5 ปี จ่ายดอกเบี้ยรวมประมาณ 12,000 บาท

“ตามที่ชมรมธุรกิจบัตรเครดิต สมาคมธนาคารไทย จะเดินหน้าเจรจาข้อเรียกร้องการปรับเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตจาก 16% ต่อปีนั้น ขณะนี้ ยังไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาพูดคุยหรือมีข้อเสนอเพื่อเข้าเจรจากับ ธปท.” น.ส.สุวรรณี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เป็นหนี้เศร้า ดอกเบี้ยขึ้นปู๊ดป๊าด พีคสุดรอบ 9 ปี รัว 7 ครั้งในปีเดียวม.หอการค้าไทย เผยคนไทยมีหนี้กว่า 5.5 แสนบ./ครัวเรือน สูงสุดรอบ 15 ปี