อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. ค้านแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ได้ไม่คุ้มเสีย

‘รสนา’ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. ยก 6 เหตุผลร้อง สตง.-ปปช.-กกต. ระงับแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท หวั่นใจได้ไม่คุ้มเสีย

เนื่องจากรายละเอียดบางส่วนยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น แหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ กรอบกลุ่มเป้าหมาย ทำให้การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต รอบที่ 2 วันนี้ (19 ต.ค.66) ถูกเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 24 ต.ค.66 แทน

พร้อมกันนี้ เมื่อช่วงที่ผ่านมา น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กทม. ได้เข้ายื่นหนังสื่อต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการ ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 กรณีแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

ซึ่งมองว่า ตามที่รัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยมีนโยบายโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทออกมาเร่งด่วนให้ แก่ประชาชนทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี ทั้งที่มีนักวิชาการแถลงคัดค้านจำนวนมาก จึงเห็นว่าโครงการนี้มีปัญหามิชอบด้วยกฏหมาย และอาจเกิดความเสียหายขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ด้วยเหตุผล 6 ประการทั้งนี้ ได้แก่

1.ผลได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆฟื้นตัวตามศักยภาพอยู่แล้วไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีกและควรใช้เงินจำนวนประมาณ 560,000 ล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล แทนการใช้เงินเพื่อกระตุ้นอุปโภคบริโภคน่าจะเหมาะสมกว่า

2.ขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา หากดูจากเอกสารหาเสียงของพรรคเพื่อไทยระบุว่า กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ(คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงินไม่ใช่ ‘คริปโตเคอเรนซี่’ สิ่งที่โครงการนี้จะออกคือสำแดงรูปแบบทางกฎหมายเป็น ‘โทเคนดิจิทัล’

เนื่องจากเหรียญดังกล่าวไม่ใช่สิทธิในการได้รับมา ซึ่งสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจงกับบริษัทผู้ออก แต่จะเป็นสิทธิที่เปิดกว้างขวางให้แก่ร้านค้าทั่วประเทศที่เข้ามาลงทะเบียน ซึ่งเอกชนผู้ออก คริปโปเคอร์เรนซี่ ที่มีลักษณะ เป็น Bath stable coin จะต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามนัยยะมาตรา 9

3.เพิ่มความสิ้นเปลือง แก่ประเทศไม่จำเป็นเนื่องจากมีผู้ให้บริการดิจิทัลวอลเล็ต และโมบายแบงก์กิ้งหลายแอปพลิเคชั่นอยู่แล้ว เช่น เป๋าตัง, ทรูมันนี่, K PLUS, SCB EASY เป็นต้น ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของรัฐบาลได้

4.หลีกเลี่ยงหลักการใช้เงินแผ่นดิน จึงเห็นว่าเงินที่จะใช้ในโครงการนี้เข้าข่ายเป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งการใช้จ่ายจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 140 โดยรัฐบาลต้องเสนอในกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภาแต่ในเอกสารที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงต่อ กกต. นั้นระบุแหล่งเงินไว้ว่าจะมาจาก ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67

ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย การบริหารจัดการงบประมาณ การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน ดังนั้นจึงอาจเป็นการวางแผนใช้งบประมาณเดิม โดยรัฐบาลจะไม่เสนอโครงการนี้ในกระบวนการงบประมาณต่อรัฐสภาเสียก่อน อันอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

5.ซุกหนี้สาธารณะ รัฐบาลจะใช้ให้ธนาคารออมสินกู้หนี้ไปก่อน แล้วรัฐบาลจึงค่อยจัดเงินจากงบประมาณชดใช้ในภายหลัง แต่เห็นว่าการดำเนินการเช่นนี้ จะมีลักษณะเป็นการซุกหนี้ ที่ไม่โปร่งใสและอาจจะอยู่นอกขอบวัตถุประสงค์ของธนาคารออมสิน

6.ขัดกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรค 3 จากเหตุผลทั้ง 6 ข้อที่กล่าวไป ส่งผลให้โครงการดังกล่าวน่าจะเป็นการกระทำที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2560 และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 รวมทั้งพ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ.2501 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งก่อให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจและการเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง จึงได้มาร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สั่งการให้ สตง. ตรวจสอบเป็นการเร่งด่วน เมื่อผู้ว่า สตง.เสนอผลการตรวจสอบแล้ว ก็ขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อระงับหรือยับยั้งการดำเนินการดังกล่าวตามมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2561

คลิปอีจันแนะนำ
ตอบดราม่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท