ม.หอการค้า เชื่อมือรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นปีเงินสะพัด 7.2 หมื่นล้าน

ม.หอการค้าไทย เชื่อ 3 นโยบายเศรษฐา ลดค่าไฟ ลดค่าน้ำมัน พักหนี้เกษตรกร ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสิ้นปี 66 ทำเงินสะพัด 72,939 ล้านบาท

วานนี้ (27 ก.ย.66) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพิ่งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2.25% เป็น 2.5% ต่อปี โดยให้มีผลทันที ซ้ำยังปรับลดคาดการณ์จีดีพีทั้งปีลดลงจาก 3.6% เหลือ 2.8% ด้วย จากการส่งออกและท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด เช่นเดียวกับรายได้ที่ยังฟื้นตัวช้าส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของเอสเอ็มอี ครัวเรือน และกลุ่มเปราะบาง

ด้าน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ วันนี้ (28 ก.ย.66) ได้ประมาณการเศรษฐกิจ ปี 66 และทัศนะต่อนโยบายลดค่าครองชีพในปัจจุบัน ว่า ได้ปรับประมาณการจีดีพีลดลงที่ 3% จากเดิมที่ 3.6% จากปัจจัย 2 ส่วน ได้แก่

ปัจจัยบวก 1.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2.การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.การนำเข้าสินค้าปรับตัวลดลง และ 4.นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเศรษฐา 1

ปัจจัยลบ 1.ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/66 ชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ 2.การส่งออกสินค้าปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่คาด 3.ปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง (ปรากฏการณ์เอลนีโญ) และ 4.ความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณปี 67

“เมื่อนำทั้ง 2 ปัจจัย มาเฉลี่ยผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นตัวเลข ปัจจัยบวกมีมูลค่า 1.18 ล้านบาท คิดเป็น 6.98% ต่อจีดีพี และปัจจัยลบมีมูลค่า 1.28 ล้านบาท คิดเป็นติดลบ 7.57% ต่อจีดีพี ดังนั้น เมื่อปัจจัยลบมีผลมากกว่าทำให้จีดีพีปี 66 ลดลงจาก 3.6% มาเหลือที่ 3%” นายธนวรรธน์ กล่าว

ส่วนไตรมาส 4/66 เศรษฐกิจจะได้แรงสนับสนุนจากมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล สำหรับ 1.มาตรการลดค่าไฟฟ้า 2.การลดราคาน้ำมันดีเซล และ 3.การพักชำระหนี้เกษตรกร ทำให้ประชาชนสามารถประหยัดเงินไปที่ 49,834 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาแบบจำลองโดยนำเงินราว 5 หมื่นล้านบาท จากกำลังซื้อประชาชนได้อัดฉีดในระบบเศรษฐกิจ มีผลต่อจีดีพีช่วง 3 เดือนที่เหลือของปี 66 ประมาณ 72,939 ล้านบาท โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ 0.43% ของจีดีพี ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงไตรมาส 4/66

“เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้โดดเด่น ซึ่งปี 67 คาดว่าจะขยายตัวที่กรอบ 4.5-5% จากการอัดนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล และการท่องเที่ยวดีขึ้นจากนักท่องเที่ยวเข้าไทยถึง 35 ล้านคน ทำให้เกิดดีมานด์มากขึ้น สอดคล้องกับประมาณการของแบงก์ชาติ” นายธนวรรธน์กล่าว

จากการสำรวจทัศนคติต่อนโยบายลดค่าครองชีพ และประเด็นอื่นๆ สำรวจกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 1,220 คน ระหว่างวันที่ 19-24 ก.ย.66 โดยจำนวนราว 79.4% มองว่า มาตรการกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีมาก ถัดมา 19.6% กระตุ้นได้ปานกลาง และ 1% ตอบว่ากระตุ้นได้น้อย

ส่วนมาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน-คาซัคสถาน ราว 45.1% มองว่า ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในปัจจุบันได้ดีมาก อีก 29.4% กระตุ้นได้ปานกลาง และราว 20.5% ตอบว่า กระตุ้นได้น้อย

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจโดยทัศนคติต่อเศรษฐกิจ ราว 47.4% ตอบว่าเศรษฐกิจไม่เปลี่ยนแปลง รองลงมา 40.4% ตอบว่า เศรษฐกิจดีขึ้น อีก 6.8% ตอบว่าเศรษฐกิจแย่ลงมาก แต่ 67.2% คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า หรือเศรษฐกิจในปี 67 เศรษฐกิจจะดีขึ้น อีก 30.3% ไม่เปลี่ยนแปลง และ 1.3% ตอบว่าดีขึ้นมาก

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากแบบสำรวจดังกล่าว สะท้อนว่าประชาชนเชื่อว่าเศรษฐกิจในปี 67 จะดีขึ้น แต่กังวลถึงความไม่นิ่งของสถานการณ์ของรัฐบาล และความไม่ชัดเจนเรื่องมาตรการ ทำให้กลุ่มตัวอย่างราว 61.7% กังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศและเสถียรภาพทางการเมือง ขณะที่ คาดการณ์ 6 เดือนข้างหน้า ประชาชนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ 72.1% ซึ่งมีความเสี่ยงทางการเมืองมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น

นอกจากนี้ ทัศนะต่อมาตรการต่างๆ ในการลดค่าครองชีพ อย่างมาตรการลดราคาดีเซล ราว 77.7% ตอบว่า ช่วยลดค่าครองชีพได้มาก ถัดมา 19.6% ช่วยได้ปานกลาง และ 2.7% ช่วยลดได้น้อย ขณะที่ มาตรการลดค่าไฟฟ้า ราว 70% ตอบว่าช่วยได้มาก รองลงมา 28.6% ช่วยได้ปานกลาง และ 1.4% ช่วยได้น้อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ว้าวุ่นเลยทีนี้! ‘กนง.’ ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็น 2.5% มีผลทันที