เปิดเงื่อนไข รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ ไม่จนจริงไม่ได้เงิน

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ไม่ถ้วนหน้าอีกต่อไป ราชกิจจานุเบกษาประกาศ ใช้แล้ว 12 ส.ค.66 รอกระทรวงมหาดไทย เคาะจนจริง จนเท่าไรถึงได้เงิน

เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นนโยบายหาเสียงของหลายพรรคการเมือง เดิมอายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 บาท ถัดมา อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 700 บาท ส่วนอายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 800 บาท และอายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 1,000 บาท

อย่างพรรคพลังประชารัฐ มีนโยบายเพิ่มเป็น 1,000-3,000 บาท ส่วนพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เพิ่มเป็น 3,000 บาท

แต่ช่วงหลายสัปดาห์ก่อน ‘กระทรวงการคลัง’ ขอให้ทบทวนการให้สิทธิสำหรับเบี้ยผู้สูงอายุ เพราะเงินใกล้จะหมดแล้ว โดยอาจพิจารณาให้เฉพาะผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ที่มีความเดือดร้อนมากที่สุด ซึ่งอาจจะเข้าข่ายผู้ที่ถือบัตรคนจนอยู่ก่อนหน้านี้ เพื่อช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นของรัฐ

แต่ไม่ทันไร ราชกิจจานุเบกษาก็ได้เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ซึ่งลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาในวันที่ 11 ส.ค.66 และให้มีผลบังคับใช้ 12 ส.ค.66 ทันที

ซึ่งในส่วนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ของกฎหมายฉบับเก่าและใหม่ แตกต่างกันในข้อ 4 ซึ่งจะใช้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุใหม่ ส่วนผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่แล้วยังได้รับต่อไป

นอกจากนี้ ระเบียบดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 69 และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 5 และ มาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 6 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงออกระเบียบไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค.2566)

สำหรับสาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้

ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “ผู้สูงอายุ” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป “เบี้ยยังชีพ” หมายความว่า เงินที่รัฐมอบให้แก่ผู้สูงอายุตามกฎหมายเพื่อใช้ในการยังชีพ

“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า เทศบาล องค์การบริหารส่วนตาบล และเมืองพัทยา

“ผู้บริหารท้องถิ่น” หมายความว่า นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตาบล และนายกเมืองพัทยา

ขณะที่ ในหมวด 5 ข้อ 14 ระบุ สิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามระเบียบนี้ สิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้

1.ตาย

2.ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6

3.แจ้งสละสิทธิการขอรับเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ตนมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าว สิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สำหรับบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้หากผู้สูงอายุ ที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน

ในบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ยังระบุว่า บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป

การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว