แม่ค้าออนไลน์ เตรียมตัว ‘สรรพากร’ ส่ง AI ล่าภาษี สุ่มตรวจรายได้

กรมสรรพากร นำระบบ AI ตรวจสอบภาษีเชิงลึก พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ เตรียมตัวเลย เจอสุ่มตรวจรายได้ด้วย

อาชีพพ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่มาแรงและเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคนในยุคนี้ เพราะสร้างรายได้แบบเป็นกอบเป็นกำ แต่ด้วยรายได้ที่มั่งมีนั้น ก็ตามมาด้วยภาษีที่ต้องจัดการให้รอบคอบ

โดยวิธีจัดการภาษี เบื้องต้นสำหรับผู้มีอาชีพค้าขายออนไลน์ ที่ต้องรู้  จาก ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความ ที่ปรึกษากฎหมาย และนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล เจ้าของเพจ ‘Dr.Pete Peerapat’ ระบุว่า

1.ผู้มีรายได้ถึงเกณฑ์ทุกคน ต้องเสียภาษี

ไม่ว่าคุณจะมีอายุเท่าไรไม่สำคัญ แต่ถ้ามีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด (กรณีลูกจ้างบริษัท หากมีเงินได้สุทธิเกิน 150,000 บาทต่อปี) ก็ต้องยื่นแบบภาษีทุกคน

2.ขายของออนไลน์ รายได้เกิน 60,000 บาทต่อปีต้องยื่นภาษี

การยื่นแบบเสียภาษี กับการเสียภาษี คนละเรื่องกัน หากคุณมีรายได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องยื่นแบบเสียภาษีไปก่อน ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่จะต้องดูรายได้สุทธิอีกที กรณีคนขายของออนไลน์เงินได้สุทธิเกิน 60,000 บาทต่อปีต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งตรงนี้จะแบ่งเป็น 2 กรณี คือ

กรณีต้องยื่นแบบภาษี

หากเป็นบุคคลธรรมดาที่ทำอาชีพ ‘ขายของออนไลน์’ (ไม่เปิดขายในฐานะของนิติบุคคล) ที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์ เมื่อมีได้รายเกิน 60,000 บาท (กรณีโสด) หรือมีรายได้เกิน 120,000 บาท (กรณีสมรส) จะต้องยื่นภาษีเงินได้

กรณีต้องยื่นแบบและต้องเสียภาษี

การขายของออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ยังถือว่าเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะเสียภาษีหรือไม่เสียภาษีนี้จะต้องขึ้นอยู่กับว่าเรามี ‘เงินได้สุทธิ’ หรือ ‘กำไรสุทธิ’ ต่อปีเท่าไร เมื่อหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนออกไปแล้ว โดยตามหลักเกณฑ์ คือ ยิ่งมีเงินได้สุทธิมากย่ิงเสียภาษีในอัตราที่มาก ตามขั้นบันได ดังนี้

เงินได้สุทธิ 1-150,000 บาท/ปี ไม่ต้องเสียภาษี 

เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท/ปี เสียภาษี 5% 

เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท/ปี เสียภาษี 10% 

เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท/ปี เสียภาษี 15% 

เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท/ปี เสียภาษี 20% 

เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท/ปี เสียภาษี 25% 

เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท/ปี เสียภาษี 30% 

เงินได้สุทธิ 5,000,001 ขึ้นไป เสียภาษี 35% ของรายได้

และด้วยความที่ ‘กรมสรรพากร’ สามารถตรวจสอบรายได้ ‘ผู้ค้าขายออนไลน์’ ได้เสมอๆ เพราะได้รับข้อมูลการเงินจากธนาคารด้วย เช่น หากแม่ค้าออนไลน์ A มีเงินเข้าบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือเกิน 400 ครั้งต่อปีและได้เงินรวม 2 ล้านบาทขึ้นไป กรมสรรพากรจะทราบข้อมูลเหล่านี้ทั้งหมด ดังนั้น แม้แม่ค้าออนไลน์ A จะไม่โพสต์รายได้ขึ้นบนโซเชียลมีเดีย แต่สรรพากรก็ตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้อยู่ดี

และล่าสุด นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ก็ได้ออกมาบอกว่า กรมสรรพากรกำลังเพิ่มประสิทธิภาพระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-tax เพื่อดึงคนเข้าระบบให้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลางจำนวนที่มากอยากเข้าสู่ระบบภาษีอย่างถูกต้อง แต่มีปัญหาความยุ่งยากในการทำระบบบัญชีและภาษี

ซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้สามารถยื่นภาษีได้ถูกต้อง ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดความผิดพลาดและถูกเก็บภาษีย้อนหลัง โดยผู้ประกอบการสามารถใช้บริการกับผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Service Provider) ที่มีโปรแกรมด้านภาษีที่ได้รับอนุญาตจากกรมให้เป็นผู้นำส่งภาษีให้กับกรมได้

“หลายประเทศได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้ในการตรวจสอบการเสียภาษี สำหรับกรมสรรพากรอยู่ระหว่างการทดลองใช้ในแซนด์บ็อกซ์ ในปัจจุบันโซเชียลมีเดียมีบทบาทในการสื่อสารระหว่างบุคคล รวมถึงการค้าขาย ซึ่งระบบเอไอสามารถเข้าไปตรวจสอบว่าผู้เสียภาษีรายนั้นๆ มีการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพ ว่าค้าขายอะไรบ้าง” นายลวรณกล่าว

และว่า การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการยื่นเสียภาษีจะทำให้ระบบการคืนภาษีรวดเร็วมากขึ้น เช่น จากเดิมที่เป็นระบบที่ใช้คนเป็นผู้ตรวจสอบ อาจใช้เวลาพิจารณาเพื่อคืนภาษีเป็นเดือน แต่เมื่อตรวจสอบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาจใช้เวลาเหลือเพียง 7 วัน เท่านั้น

นอกจากนี้ กรมยังสุ่มตรวจตามหน้าเว็บไซต์ต่างๆ อาทิ เฟซบุ๊กที่มีการโพสต์โชว์เงินโอนเข้า หรือการไลฟ์สดขายสินค้า เพื่อตรวจสอบว่ารายได้ของบุคคลเหล่านั้นเสียภาษีถูกต้องแล้วหรือไมด้วย

ดังนั้น พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์ ที่มองว่ากิจการเริ่มมีอนาคตไกล อาจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจเป็นแบบบริษัทได้ แต่ก็ต้องแลกเปลี่ยนกับการบริหารที่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่เข้มงวดขึ้นด้วย

คลิปแนะนำอีจัน
ภารกิจพิชิตน้ำ ค้างกลางตู้กด