ย้ำอีกครั้ง ! รู้หรือไม่ ประกันสังคม แต่ละมาตราต่างกันอย่างไร ?

รู้หรือไม่ ประกันสังคม แต่ละมาตรา ม.33 , ม.39 , ม.40 ต่างกันอย่างไร ? แล้วสามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ?

เงินประกันสังคมคือเงินแบบไหน? ทำไมมนุษย์เงินเดือนถึงต้องถูกหักเงินส่วนนี้ จะพาคุณไปรู้จักกับบทบาทของเงินประกันสังคมว่า เงินในส่วนนี้มีหน้าที่อย่างไร ส่งผลกระทบอะไรกับชีวิตของเราบ้าง เพื่อใช้ประโยชน์จากเงินประกันสังคมได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

เงินประกันสังคมคืออะไร?

“เงินประกันสังคม” มีชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “เงินสมทบกองทุนประกันสังคม” เป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยผู้ประกันตนจะจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ, ตาย, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ และว่างงาน

ประกันสังคมแต่ละมาตราต่างกันอย่างไร ?

กองทุนประกันสังคม มีการคุ้มครองผู้ประกันตนโดยแบ่ง 3 มาตราหลักๆ ได้แก่

มาตรา 33

คือ ลูกจ้างผู้ซึ่งทำงานให้กับนายจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป วิธีการคำนวณเงินประกันสังคมประเภทนี้คำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือน ขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หรือหากคิดเป็นเงินสมทบรายเดือนจะมีขั้นต่ำที่ต้องจ่ายเดือนละ 83 บาท และสูงสุดเดือนละ 750 บาทได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี 

1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

2. กรณีคลอดบุตร

3. กรณีทุพพลภาพ

4. กรณีตาย

5. กรณีสงเคราะห์บุตร

6. กรณีชราภาพ

7. กรณีว่างงาน

มาตรา 39

คือ ผู้ประกันตนโดยสมัครใจ หรือผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน รวมถึงต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินกองทุนเดือนละ 432 บาท โดยต้องส่งเงินสมทบให้ครบทุกเดือนต่อเนื่องกัน ซึ่งหากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก็จะถือว่าสิ้นสุดสภาพผู้ประกันตนตามมาตรานี้ โดยได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี

1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

2. กรณีคลอดบุตร

3. กรณีทุพพลภาพ

4. กรณีตาย

5. กรณีสงเคราะห์บุตร

6. กรณีชราภาพ

มาตรา 40

คือ บุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ โดยไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39 สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 วิธีการนำส่งเงินกองทุนมีด้วยกัน 3 ทางเลือก คือ จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท,100 บาท หรือ 300 บาท โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้จะแตกต่างกันไป โดยได้รับความคุ้มครองมากที่สุด 5 กรณี

1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย

2. กรณีทุพพลภาพ

3. กรณีตาย

4. กรณีสงเคราะห์บุตร

5. กรณีชราภาพ

เงินประกันสังคมลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?

ประโยชน์อีกอย่างของเงินสมทบกองทุนประกันสังคมก็คือ เงินสมทบทุนส่วนนี้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 หรือมาตรา 40 โดยสามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินจำนวนสูงสุดที่กำหนดไว้ หากคำนวณคร่าวๆ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดปีละ 9,000 บาท ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะหักลดหย่อนได้สูงสุดปีละ 5,184 บาท ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะหักลดหย่อนได้สูงสุดปีละ 4,000 บาท

แม้ว่าเงินประกันสังคมจะเป็นเงินที่ดูเหมือนไม่มาก แต่หากเทียบกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับมาก็ถือว่าคุ้มค่ากว่าเงินที่จ่ายไป ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ สิทธิประโยชน์เมื่อว่างงาน สิทธิประโยชน์ยามเกษียณ หรือแม้แต่สิทธิในการนำไปหักลดหย่อนภาษี

ผู้ประกันตนม​าตรา 33,39,40ลงทะเบียนเข้าสู่ระบบสมาชิกของผู้ประกันตนหรือผู้ที่เคยเป็นสมาชิกเว็ปไซต์แล้วสามารถเข้าระบบเพื่อตรวจสอบสิทธิของตนเองได้เลย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคมได้ที่ www.sso.go.th หรือโทรสายด่วน 1506 ให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง

คลิปอีจันแนะนำ
ระทึก! ล่าคนร้ายเบี้ยวค่าน้ำมัน หวิดวิสามัญ