พันธมิตรตลาดทุน จับมือ แก้ปัญหา หลอกลงทุนออนไลน์ เฟสแรก “เช็ค ชี้ แฉ”

ตลาดหลักทรัพย์ ร่วม พันธมิตรตลาดทุน แก้ปัญหา มิจฉาชีพ หลอกลงทุนออนไลน์ เฟสแรก เช็ค ชี้ แฉ สร้างภูมิคุ้มกัน ให้ประชาชน

2-3 ปีที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวการถูกหลอกลวงในระบบออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก ทั้งหลอกลงทุน หลอกซื้อของ แม้จะปราบปรามกันไปขนาดไหน แต่มิจฉาชีพยังคงค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการมาหลอกลวงประชาชนต่อไปเรื่อยๆ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ได้นิ่งนอนใจ ต่างก็หาทางช่วยเหลือประชาชน ในการป้องกันตัวจากการถูกหลอก โดยล่าสุดวันนี้ (24 ก.ค. 66) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดการแถลงข่าวการจับมือพันธมิตรภาคตลาดทุน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานรัฐ ได้แก่ ก.ล.ต., สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย, สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, เอ็ม เอ ไอ, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, สมาคมบริษัทจัดการลงทุน, กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย, กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ประกาศเจตนารมณ์ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” ตั้งเป้าหมายในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ตรวจสอบและชี้เป้าข่าวปลอม พร้อมรณรงค์เตือนตอกย้ำประชาชนสร้างภูมิคุ้มกันด้วยสติ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพหลอกลงทุน

พร้อมจัดเสวนา “รู้ทันหลอกลงทุน ด้วยภูมิคุ้มกันความลวง” โดยมี นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานกรรมการ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมพูดคุย

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหามิจฉาชีพชักชวนลงทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย มีเป็นจำนวนมาก มีการแอบอ้างองค์กร อ้างชื่อ อ้างภาพ ของผู้บริหารของหลายหน่วยงาน ร่วมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ หลอกลวงให้มาลงทุน ส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง ครึ่งปีแรก ของ 2566 มีผู้ถูกหลอกลงทุนออนไลน์ไปแล้ว ถึง 23,545 ครั้ง มูลค่าความเสียหายถึง 11,500 ล้านบาท

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคตลาดทุน ริเริ่มโครงการ “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” โดยในเฟสแรก ตั้งเป้าตีแผ่ข้อเท็จจริง ชี้เป้าข่าวเท็จ ควบคู่ไปกับการให้ความรู้สร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ลงทุนและประชาชนไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมฯและธนาคารสมาชิก รู้ดีถึงผลกระทบจากภัยทางการเงิน และการหลอกลงทุน โดยเฉพาะ “แชร์ลูกโซ่” ที่แฝงมาในชื่อ “การออม” หรือ “การลงทุน” สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง ที่ผ่านมาจึงได้ออกมาตรการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการป้องกัน เช่น ยกเลิกส่ง SMS อีเมลล์ แนบลิงก์, แจ้งเตือนผู้ใช้บริการ Mobile Banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง, สแกนใบหน้ายืนยันตัวตนก่อนโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาทขึ้นไปต่อครั้ง หรือ ยอดโอนสะสมครบทุก 2 แสนบาทต่อวันต่อบัญชี หรือ ปรับเพิ่มวงเงินโอนตั้งแต่ 5 หมื่นบาทขึ้นไป รวมทั้งออกมาตรการตรวจจับและติดตาม พัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร (Central Fraud Registry) เพื่อตรวจสอบธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้า ช่วยป้องกันและจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และสุดท้ายมาตรการตอบสนองและรับมือ โดยจัดให้มีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับ “การให้ความรู้ทางการเงิน” กับประชาชนทุกกลุ่ม

ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ประชาชนมีความสนใจเรียนรู้และลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องดีเพียงแต่ต้องเลือกลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากในโลกออนไลน์ มีมิจฉาชีพแฝงตัวอยู่มาก ต้องพิจารณาลงทุนกับบริษัทที่มีการรับรองอย่างถูกต้อง วิเคราะห์ข้อมูลและผลตอบแทนที่เชิญชวนว่าน่าเชื่อหรือไม่

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอเชิญประชาชน “ร่วมมือ-จับปลอมหลอกลงทุน” เช็ก ชี้ แฉ หากพบเห็นการเชิญชวนลงทุนโดยให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงภายในระยะเวลาสั้น ๆ หรือแอบอ้างองค์กรและบุคคลที่มีชื่อเสียง อย่าเพิ่งหลงเชื่อร่วมลงทุน และตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยสามารถสอบถามที่องค์กรที่ถูกอ้างถึงโดยตรง หรือตรวจสอบรายชื่อบุคคล ผู้ประกอบธุรกิจหรือบริการทางการเงินว่า ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลเรียบร้อยหรือไม่ ให้การลงทุนของทุกคนไม่ตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพนะครับ