กั๊กที่จอดรถบนถ.สาธารณะ โทษปรับเป็นหมื่น เจอแจ้งได้ส่วนแบ่งค่าปรับ 50%

ชี้ช่องรวย! ‘กระทรวงยุติธรรม’ คาดโทษ กั๊กที่จอดรถบนถนนสาธารณะ โทษหนัก ปรับสูงสุด 10,000 บาท ใครตาดี แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่ง 50%

การใช้ถนนสาธารณะเป็นที่จอดรถ หากไม่มีข้อห้ามตามกฎหมายเป็นอย่างอื่น เจ้าของที่ดินที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะ ก็อาจใช้ทางสาธารณะเป็นที่จอดรถของตนได้ แต่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลักก่อน โดยต้องเว้นทางสำหรับรถยนต์ให้เข้าออกได้เป็นลำดับแรก แล้วเจ้าของอาคารทั้งสองฝั่งถนนรวมถึงบุคคลทั่วไปจึงจะมีสิทธิใช้ทางส่วนที่เหลือเป็นที่จอดรถบนหลักของความเสมอภาค โดยไม่จำต้องคำนึงว่าใครจะเป็นผู้มาใช้สิทธิจอดรถก่อนหลังกัน

ทั้งนี้ เฟซบุ๊ก กระทรวงยุติธรรม Ministry Of Justice, Thailand โพสต์ข้อความระบุว่า ชื่อตอน : กั๊กที่จอดรถบนถนนสาธารณะ ปรับสูงสุด 10,000 แจ้งเบาะแสได้ส่วนแบ่ง 50%

การวางวัตถุ สิ่งของ เช่น แผงเหล็ก เก้าอี้ หรือสิ่งอื่นใด บนถนนสาธารณะ เพื่อจับจองพื้นที่ดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่น ในลักษณะกีดขวาง เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 ห้ามมิให้ผู้ใดตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน เว้นแต่เป็นการกระทําในบริเวณที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศกำหนดด้วยความเห็นชอบของเจ้าพนักงานจราจรผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 57

หากพบเห็นการกระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว ท่านสามารถถ่ายภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวไว้เป็นหลักฐาน และเเจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ได้ทันที โดยผู้เเจ้งจะได้รับส่วนแบ่งจากการเปรียบเทียบปรับ 50% ตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดฯ มาตรา 48 ประกอบมาตรา 51 (บังคับใช้ในพื้นที่เขตเทศบาล, สุขาภิบาล, กรุงเทพฯ, เมืองพัทยา และบางพื้นที่)

ในกรณีของพื้นที่ที่ไม่ได้บังคับใช้ตามพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ผู้กระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ ก็ถือว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 114 ประกอบมาตรา 148 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

ข้อมูลจาก :

– พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 19 มาตรา 48 มาตรา 51 มาตรา 57

– พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 114 มาตรา 148

– ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385