แบงก์ชาติ พร้อมถกรัฐบาลใหม่ เพิ่มธนาคาร แข่งเดือดลดดอกเบี้ย ช่วยลูกค้า

‘แบงก์ชาติ’ เด้งรับข้อเสนอ ‘ศิริกัญญา’ พร้อมถกรัฐบาลใหม่ เพิ่มธนาคาร แข่งเดือดลดดอกเบี้ย ช่วยลูกค้า ‘กิตติรัตน์’ ให้ท้าย ที่พูดถูกต้องแล้ว อดีตอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ โวยลั่น มีกึ๋นแค่นี้ เป็นได้แค่เด็กชงกาแฟ หน้าห้องรัฐมนตรี

จากกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล มีข้อเสนอให้เพิ่มจำนวนธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้ในเรื่องอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการให้ใบอนุญาตของธนาคารที่จะเปิดดำเนินการใหม่จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ยากเกินไปนั้น

กลายเป็นกระแสดราม่าบนโซเชียลมีเดียอย่างมาก ขณะที่ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ระบุว่า

ศิริกัญญา, ทำไมคุณถึงมั่วได้ขนาดนี้ แนวคิดของศิริกัญญาไม่ได้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประเทศแต่อย่างใดเลย

– ศิริกัญญาเอาจำนวนธนาคารไปผูกพันกับจำนวนประชากร แล้วสรุปเอาเองอย่าง “สุกเอาเผากิน” ว่า …ไม่เพียงพอ !!

– ศิริกัญญาโจมตีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า “หวง” ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคาร และเป็นเหตุทำให้ดอกเบี้ยลดไม่ได้ … เพราะมีจำนวนธนาคารน้อยเกินไปที่จะแข่งขันกัน

ผมมึนกระโหลกกับตรรกะและภูมิรู้ทางเศรษฐศาสตร์ของศิริกัญญามาก

ก่อนอื่นขอเอาประเด็นเรื่อง “หวง” ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารมาชี้แจงก่อนนะ ธนาคารเป็นตัวกลางทางการเงินที่สำคัญ เพราะสามารถ “สร้าง” เงินได้จากการปล่อยสินเชื่อ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกดอกที่ ธปท. (ธนาคารแห่งประเทศไทย) ในฐานะที่ควบคุมปริมาณเงินจำต้องเข้มงวด เพราะหากมีเงินมากกว่าสินค้า เงินเฟ้อก็จะเกิดขึ้น ไม่มีประเทศไหนอยากเป็นแบบซิมบับเว หรือเวเนซูเอลา ที่ธนาคารกลางถูกนักการเมืองสั่งให้พิมพ์เงินออกมาตามที่รัฐบาลต้องการได้หรอก ผลคือ มีเงินเฟ้อเป็นล้านเปอร์เซ็นต์ต่อปี !!

แต่ที่สำคัญไปกว่าเงินเฟ้อก็คือเงินฝาก หากไม่ “ควบคุมให้ดี” ธนาคารก็เจ๊ง คนเดือดร้อนคือผู้ฝากเงิน เพราะธนาคารเอาเงินคนอื่นมาปล่อยกู้ไม่ได้ใช้เงินตนเอง มีโอกาสที่มันจะลาม bank run ไปทั้งระบบสถาบันการเงิน หากธนาคาร ก. ล้มและไม่มีเงินไปชำระหนี้ให้ ธนาคาร ข. ค. ง. และทำให้ผู้ฝากเงินไม่มั่นใจถอนเงินมาเก็บไว้กับตัว ในอดีตที่ธนาคารตราดอกบัวเคยเอาเงินสดหลายสิบล้านบาท มากองไว้ที่เคาเตอร์ถอนเงินเมื่อตอนศิริกัญญาอาจจะยังไม่เกิด ก็เพื่อสยบความไม่มั่นใจจากเหตุข้างต้น เคยรู้บ้างไหม?

ส่วนเรื่องดอกเบี้ยจะลดหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดต่างหาก การผูกขาดไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น (คนซื้อคนขาย) ในตลาดเสมอไป หากจำนวนธนาคารมีเพิ่มเป็น 20 แห่งตามที่ศิริกัญญาอยากได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าดอกเบี้ยจะลดลง ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ? ศิริกัญญาเอา 2 เรื่องมาปนกันอย่างไม่น่าให้อภัย สำหรับผู้ที่จะอ้างตัวว่ามีความสามารถ (แต่อายุน้อย) อยากจะเป็นรัฐมนตรีคลัง คือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และ เงินกู้นอกระบบสถาบันการเงินอย่างหลังเกิดเพราะ

(1) คำโฆษณา เช่น “เงินด่วน” “ไม่ตรวจประวัติ” “ไม่ต้องยื่นเอกสาร” ซึ่งอาจจะตอบโจทย์คนบางกลุ่ม เช่น ไม่มีงานทำที่แน่นอน หรือ มีประวัติเสียทางการเงิน(ติดเครดิตบูโร) แต่อีกเหตุก็คือ (2) ความมักง่ายและไร้ซึ่งวินัยทางการเงิน ฟุ้งเฟ้อตามกระแสในโซเชียล เช่น “ของมันจำเป็นต้องมี” ผู้ที่ปล่อยเงินกู้นอกระบบก็คิดเป็นเช่นกันว่าลูกค้าของเขาคือใคร มีลักษณะอย่างข้างต้นหรือไม่ และถ้าเป็นจะปล่อยเงินกู้ด้วยดอกเบี้ยที่ถูกหรือแพงกว่าละ !!

ถ้าจะยึดหลักเสรี (ทางเศรษฐกิจ) ให้เท่าเทียมกัน จะไปขัดขวางไม่ให้เขาคิดดอกเบี้ยสูงสำหรับลูกค้าความเสี่ยงสูงกลุ่มนี้ได้อย่างไร

คิดซิ. . .คิด ศิริกัญญา !! แต่ผมเชื่อว่าคุณแกล้งโง่ … เพื่อหลอกพวกคนโง่ที่เป็นสาวกพรรคก้าวไกลของคุณ ที่คิดเองไม่เป็น เรียนรู้เองไม่เป็น และหาข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณเองไม่เป็นมากกว่า แต่ถ้าศิริกัญญาคิดและเชื่ออย่างที่ศิริกัญญาพูดในคลิป Tik Tok จริงๆ … ผมคงขนหัวลุกแน่นอน ถ้าวันใดที่ศิริกัญญาได้เป็นรัฐมนตรีคลังบริหารเศรษฐกิจของประเทศไทย

ส่วนอย่างแรกคือ การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของคนบางกลุ่มนั้น Virtual Bank (VB) อย่างที่ศิริกัญญาน่าจะจำขี้ปากหรืออ่านแค่ไม่กี่บรรทัดแล้วนำมาพูดใน Tik Tok ขอโทษที่ต้องบอกตามตรงว่าศิริกัญญาไม่รู้จริงเลย มีแต่โวหารล้วนๆ มาดูของจริงก่อนเปนไร VB หรือที่บางประเทศรู้จักกันในชื่อ Internet Only Bank, Digital Bank หรือ Neobanks ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มีแล้วในหลายประเทศ

ญี่ปุ่นมี Rakuten Bank ซึ่งเป็น Internet Only Bank มาตั้งแต่ปี 2543 ขณะที่จีนมี Webank ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2556-2557

คุณลักษณะสำคัญคือ “ไร้รูปลักษณ์ทางกายภาพ แต่ไม่ไร้ซึ่งบริการ” อาจไม่มีเครื่องรับฝาก/ถอนอัตโนมัติ(ATM) เพราะสามารถใช้ร่วมกับธนาคารดั้งเดิม หรือทำผ่านร้านค้าที่เป็นตัวแทน เช่น 7-11 หรือ ไปรษณีย์ ได้ ไม่มีสาขาในอาคารห้างร้านและที่สำคัญเปิด 24-7 ไม่มีเวลาปิดเลย

ลูกค้า VB จะสามารถเปิดบัญชีเงินฝากด้วยตนเอง ยื่นเรื่องขอกู้เงิน วางแผนการออมและการลงทุน รวมไปถึงการใช้บริการอื่นๆ ของธนาคารบนแอปพลิเคชันจากโทรศัพท์มือถือ ด้วยการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์หรือเทคโนโลยี biometrics

ศิริกัญญาจะได้เห็นการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตรงใจลูกค้าให้มากที่สุด เช่น บริการสินเชื่อขนาดเล็กแก่ผู้มีรายได้น้อย บัญชีเงินออมเงินหลายสกุลที่ใช้ได้ในหลายประเทศ ออกบัตรเครดิตที่ให้แต้มด้านสิ่งแวดล้อม บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็ก รวมไปถึงบัตรเดบิตที่ไม่ต้องใช้ชื่อและเพศตามบัตรประชาชนเพื่อกลุ่ม LGBTQ+ ที่พรรคคุณเรียกร้อง

เอาง่ายๆแค่นี้ ศิริกัญญาคิดบ้างไหมว่าต้นทุนบริการจะถูกลงกว่าเดิมเยอะมาก เมื่อต้นทุนถูกลงมากจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ไหม บริการธนาคารต่างๆมันจึงอยู่รอบตัวประชาชน 70 ล้านคนอยู่แล้ว ใบอนุญาตแค่ 3 ใบที่ออกใหม่ก็แข่งกันแย่แล้ว ไม่ต้องคลิกเข้าไปในแอปพลิเคชัน แต่ละ VB ก็อาจจะเข้ามาเชิญชวนใช้บริการถึงหน้าจอมือถือเลยหากพิจารณาแล้วว่าเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพ รองรับคนกู้ที่ไม่น่ามีถึง 70 ล้านคนได้อย่างสบาย

ไม่ได้จำเพาะเจาะเฉพาะศิริกัญญา แต่หากใครจะเสนอหน้ามารัฐมนตรีคลัง มันต้องมี “กึ๋น” มากกว่านี้ ถ้ามีกึ๋นแค่นี้ ผมไม่ได้ดูถูกหรือกดขี่ทางเพศหรอกนะ แต่บอกตามตรงว่า คุณเป็นได้อย่างมากแค่หน้าห้องรัฐมนตรี คอยยกน้ำชากาแฟเท่านั้น

น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.พร้อมเข้าหารือและนำเสนอข้อมูลกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งเป็นการดำเนินการตามปกติ หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความชัดเจน และเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ธนาคารได้เปิดให้มีการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (เวอร์ชวลแบงก์) โดยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นในรอบที่ 2 และจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในการอนุมัติใบอนุญาต (ไลเซนส์) ซึ่งกำหนดไว้ 3 ไลเซนส์ เพราะต้องค่อยๆ ทำไปก่อน หากดูในต่างประเทศเวอร์ชวลแบงก์ ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การดำเนินการของ ธปท.จึงต้องทำตามขั้นตอน และหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยของไทย เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยประเทศอื่นๆ สูงกว่า หรือต่ำกว่านั้น ต้องดูพื้นฐานของลูกหนี้ในแต่ละพอร์ตด้วย ถ้าสำหรับธนาคารในประเทศไทย ลูกหนี้ที่มีจำนวนเยอะ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือลูกหนี้กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ (คอร์เปอร์เรท) ลูกหนี้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกหนี้รายย่อย (รีเทล) โดยกลุ่มคอร์เปอร์เรทเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำ และมีดอกเบี้ยต่ำกว่ากลุ่มเอสเอ็มอี และรีเทล ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอี และรีเทล เป็นสินเชื่อที่ไม่มีประกันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น

“แต่ถ้าเทียบกับต่างประเทศก็แล้วแต่พอร์ต เราเคยเอาตัวเลขเพดานดอกเบี้ยของเราไปเทียบกับหลายประเทศ พบว่าบางประเทศมีเพดานดอกเบี้ยที่สูง หรือดอกเบี้ยที่เก็บจริงสูงกว่าไทยเยอะมาก เช่น ประเทศอังกฤษ มีดอกเบี้ยเรียกว่าเป็น payday loan คือการกู้เงินด่วน สมมุติได้ทำงานครึ่งเดือนและรู้สึกชอร์ต เราจะไปกู้เงินจะทำให้ดอกเบี้ยนั้นสูงขึ้น 300% ต่อปี ซึ่งเป็นสินเชื่อประเภทพิเศษ ไม่ใช่สินเชื่อทั่วไป” น.ส.สุวรรณี กล่าว

ดังนั้น เวลาโปรดักต์ที่แต่ละประเทศมีดอกเบี้ยต้องประเมินคือ 1.เงื่อนไขพื้นฐานของปัจจัยภายในประเทศนั้นๆ 2.ลูกหนี้ 3.ผลิตภัณฑ์ (โปรดักต์) ว่ามันมีวัตถุประสงค์แบบใด ซึ่งตามที่ยกตัวอย่างอาจเป็นผลิตภัณฑ์ที่สุดโต่งสำหรับคนที่ชอร์ตและกู้เงินระยะสั้น

“หากถามว่าอัตราดอกเบี้ยไทยสูงกว่าต่างประเทศจริงหรือไม่ บอกว่ามันมีทั้งประเทศที่ต่ำกว่าเรา และมีทั้งประเทศที่สูงกว่าเรา” น.ส.สุวรรณี กล่าว

ด้าน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก กิตติรัตน์ ณ ระนอง – Kittiratt Na-Ranong ระบุว่า ดอกกู้กับดอกฝาก ห่างกันขนาดนี้ยังไม่คิดเพิ่มจำนวนธนาคารมาแข่งขันกัน… โจมตีคุณศิริกัญญาทำไม…ท่านพูดถูกต้องแล้ว…

ข่าวน่าสนใจอื่น:

หนุ่มแชร์ประสบการณ์ กู้บ้าน 13 ล้าน ผ่อน 30 ปี จ่ายหนี้บาน 33 ล้านผู้ประสบภัยโผล่อีก กู้บ้าน 10 ล้าน ผ่อน 4 ปี จ่ายดอกเบี้ยกว่า 5 แสน/ปี