เป็นหนี้เศร้า ดอกเบี้ยขึ้นปู๊ดป๊าด พีคสุดรอบ 9 ปี รัว 7 ครั้งในปีเดียว

ดอกเบี้ยขึ้นไม่ยั้ง! พีคสุดรอบ 9 ปี รัว 7 ครั้งในปีเดียว (ส.ค.65-ส.ค.66) 8 เดือนปี 66 (ม.ค.-ส.ค.66) ขึ้นพรวด 4 ครั้ง คนเป็นหนี้จะไหวมั้ย?

ตามที่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2% เป็น 2.25% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 9 ปี ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 7 นับตั้งแต่เดือน ส.ค.65 และเป็นครั้งที่ 4 ของปี 66

ด้าน ธนาคารกรุงไทย โดย Krungthai COMPASS มีบทวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องเข้าสู่ระดับศักยภาพ โดยเศรษฐกิจฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ขณะที่การส่งออกสินค้าหดตัวในระยะสั้นส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้า และวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกยังชะลอตัว

แต่คาดว่า จะทยอยปรับดีขึ้นในระยะต่อไปสอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นจากภาคการส่งออกสินค้าที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงจากราคาในหมวดพลังงาน มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และผลของฐานที่สูงในปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหลังจากปัจจัยชั่วคราวทยอยหมดลง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงแต่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับที่สูงกว่าในอดีต และมีความเสี่ยงด้านสูงจากต้นทุนราคาอาหารที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหากปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงกว่าคาด ซึ่งอาจแร่งการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการในบริบทที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง

มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการเฉพาะจุดและการแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

สำหรับด้านคุณภาพสินเชื่ออาจด้อยลงจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่สูงขึ้นและรายได้ที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดีธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง

ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายลดลงแต่ยังเอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชนและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สินเชื่อภาคเอกชนชะลอลงหลังจากที่ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงวิกฤตโควิด-19

โดยประเมินว่าส่วนหนึ่งเป็นการปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ แนวโน้มเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย

วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้จะแตะระดับ 2.5% (Terminal rate) สะท้อนจากมุมมองของ กนง. ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งในปี 66 และ 67 และอัตราเงินเฟ้อจะทรงตัวอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงด้านสูง อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจของ กนง. ในครั้งถัดไปขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ไทยพาณิชย์ ถึกเกินเบอร์ ทั้งไตรมาส 2/66 โมบายแบงก์กิ้ง ไม่ล่มสักครั้งโอ้โฮ! 2 แบงก์ผนึกกำลัง ปิดปรับปรุงระบบ 6 และ 8 ส.ค.66 รวม 25 รายการ