ปีใหม่นี้จะทำอะไรก็ควรระมัดระวังเพราะค่าใช้จ่ายในงานศพมันแพง

ปีใหม่นี้ใครจะทำอะไรก็อย่าลืมระมัดระวังกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดหรือการไปปาร์ตี้ส่งท้ายปีใหม่ เพราะค่าใช้จ่ายในตอนที่เราเสียชีวิตไม่ใช่น้อย ๆ ลำบากครอบครัวไปอีก วันนี้เราจะมาเปิดลิสต์ให้ดูเลยว่าเมื่อเราเสียชีวิตต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

1.รูปหน้าศพ (ประมาณ 200 บาท)
รูปหน้าศพเป็นเสมือน ID Card ระบุว่าผู้ตายคือใคร เกิดเมื่อไหร่ และตายเมื่อไหร่ อีกทั้งยังถือว่าเป็นเครื่องเตือนใจให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้อยู่กับปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นเหมือนที่ระลึกถึงผู้ตายว่า “ครั้งหนึ่งเราเคยได้เป็นครอบครัว ญาติ เพื่อน หรือคนที่รักกัน” จึงสามารถใช้รูปหน้าศพเป็นตัวแทนของผู้ตายไปแล้ว เช่น ครอบครัวของผู้เขียนจะมีการทำบุญให้แก่ญาติที่ได้ลาลับไปแล้วในทุกปี ซึ่งครอบครัวจะนำรูปเหล่านี้มาตั้งเป็นตัวแทนและจุดภาวนาให้ผลบุญที่ได้ทำอุทิศให้แก่ญาติ

2.โลงศพ (ประมาณ 20,000 บาท)
เราไม่สามารถให้ผู้ตายไร้ที่อยู่อาศัยได้ จึงต้องมีโลงใส่ศพ เพื่อเก็บศพเป็นกิจจะลักษณะและสะดวกต่อการขนย้ายในการทำพิธีต่าง ๆ

3.ดอกไม้ (ประมาณ 18,000 บาท)
สำหรับ ‘ค่าดอกไม้’ นี้ ขอรวบค่าดอกไม้ต่าง ๆ ให้อยู่ในหมวดเดียว เนื่องจากงานศพค่อนข้างใช้ดอกไม้ในปริมาณมากและหลายประเภท ตั้งแต่พิธีนำทางวิญญาณจนถึงพิธีลอยอังคาร อาทิ ดอกไม้หน้าโลงศพ ดอกไม้โปรย ดอกไม้ไหว้พระ ต่อมาคือพวงหรีด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ในการแสดงความเสียใจและไว้อาลัยแก่ผู้ตาย อย่างผู้จัดงานเองก็ต้องมีพวงหรีดที่ขึ้นนามสกุลของครอบครัว เพื่อแสดงถึงความเสียใจและไว้อาลัยแก่ผู้ตาย

4.ธูป (ประมาณ 300 บาท)
ในงานศพ ‘ธูป’ จะถูกใช้ในปริมาณมาก ซึ่งตามความเชื่อธูปคือเครื่องมือไว้ใช้สื่อสารกับวิญญาณหรือเทพเทวดา โดย ธูป 1 ดอก สำหรับใช้สื่อสารกับวิญญาณทั่วไป ในงานศพส่วนใหญ่จึงมีการแจกธูป 1 ดอก ให้แขกหรือญาติ พี่น้อง ที่มาร่วมงานได้ไหว้ผู้ตาย ถือเป็นการบอกกล่าวแก่ผู้ตายในการมาเยือนงาน

5.เครื่องไทยธรรม (ประมาณ 5,500 บาท)
การสวดอภิธรรม ตามพิธีทุกคืนจะต้องมีการถวายเครื่องไทยธรรมโดยคนที่เป็นเจ้าภาพสำหรับคืนนั้นและญาติผู้ใหญ่หรือผู้มีตำแหน่งในหน้าที่การงาน ไม่ว่าจะเป็น หัวหน้างาน ผู้อาวุโสในงาน เป็นผู้ถวาย ซึ่งองค์ประกอบของเครื่องไทยธรรมจะเป็นวัตถุหรือสิ่งของในปัจจัย 4 (ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประกอบที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้สอยอื่น ๆ และยารักษาโรค ) ที่ถวายแด่พระสงฆ์

6.อาหาร ของว่าง และน้ำ (ประมาณ 60,000 บาท สำหรับจัดสวดอภิธรรม 3 คืน)
ในงานศพจะมีการเลี้ยงอาหาร ของว่าง และน้ำให้กับแขกที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจและความขอบคุณที่มาช่วยและร่วมงาน ซึ่งการสั่งอาหารและของว่างจะขึ้นอยู่กับผู้จัดงาน

7.ค่าบำรุงวัด (ประมาณ 9,300 บาท)
แน่นอนว่าสถานที่อย่างวัดก็มีค่าสถานที่เช่นกัน แต่จะมาในรูปแบบของค่าบำรุงวัด ค่าน้ำ-ค่าไฟที่เรามาใช้มากกว่า และเมื่อมีการใช้เสียงท่ามกลางจำนวนคนหมู่มาก ก็ต้องมีเครื่องขยายเสียง ซึ่งทางวัดก็มีให้บริการด้านนี้เช่นกัน โดยจะใช้ขยายเสียงในตอนพระสวดและมัคนายกนำสวด ทั้งยังใช้เปิดเพลงระหว่างที่พิธีกรรมยังไม่เริ่ม เพื่อให้บรรยากาศไม่เงียบเกินไป ต่อมาเมื่อถึงวันฌาปนกิจศพ ก็ต้องมีการจ่าย “ค่าน้ำมันเตา” ที่ต้องใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในตอนจะเผาร่างให้กับทางวัด

8.ค่าดอกไม้จันทน์และของชำร่วย (ประมาณ 49,000 บาท)
ดอกไม้จันทน์เสมือนเป็นสิ่งที่แสดงความไว้อาลัย เมื่อเราไปวางดอกไม้จันทน์ก่อนจะนำโลงศพเข้าเตาเผาก็เหมือนเป็นการไปส่งผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย ส่วนของชำร่วยที่แจกให้แก่แขกผู้มาร่วมงานก็เสมือนเป็นการขอบคุณและให้เป็นที่ระลึกถึงผู้ตายอีกด้วย

9.ใส่ซอง (ประมาณ 13,900 บาท)
การใส่ซองสำหรับถวายพระ สำหรับงานศพนอกจากจะใส่ซองถวายพร้อมเครื่องไทยธรรมแล้ว ยังมีการใส่ซองถวายพระที่เป็นผู้นำทำพิธีต่าง ๆ เช่น สวดนำทางวิญญาณจากสถานที่เสียชีวิตไปยังสถานที่จัดงาน หรือสวดเพื่อนำพาร่างของผู้ตายขึ้นไปยังเมรุ อีกทั้งยังมีการใส่ซองและมอบให้แก่ผู้มาช่วยงานหรือดำเนินงานให้ เช่น สัปเหร่อ เจ้าหน้าที่ในวัดที่มาช่วยแบกโลง เป็นต้น

สรุปแล้วสำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดในงานศพจะตกที่ประมาณเกือบ 177,000 บาท เพราะอย่างงั้นปีใหม่นี้เราควรใช้ชีวิตอยู่กับความไม่ประมาท อยู่กับปลอดภัยและระมัดระวังให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่เกิดเหตุสลดใจและเพิ่มค่าใช้จ่ายให้แก่ครอบครัวของเราเอง