ก่อนจะเป็นผู้ค้ำประกันให้คนอื่น ต้องคิดให้ดี ไม่งั้นอาจต้องใช้หนี้แทน

หากต้องเป็นผู้ค้ำประกันให้คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการกู้เงิน กู้ซื้อบ้าน กู้ซื้อรถ คุณต้องคิดไตร่ตรองให้ดี ถึงผลที่จะตามมา เพราะถ้าผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันจะต้องจ่ายหนี้แทน

การค้ำประกันต้องมีขอบเขตชัดเจน

– ก่อนการเซ็นค้ำประกัน อย่าลืมอ่านสัญญาให้ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องการกำหนดวงเงินความรับผิดแทนลูกหนี้ตัวจริง ตามกฎหมายต้องระบุให้ชัดเจนว่า เราจะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนเงินที่เท่าไหร่ และจำกัดความรับผิดชอบตามที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น

สัญญาที่ระบุให้เป็นลูกหนี้ร่วมถือเป็นโมฆะ

– สัญญาที่ระบุไว้ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบหนี้ก้อนนั้นร่วมกับลูกหนี้จะไม่มีผลบังคับใช้ หากเกิดเหตุลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เจ้าหนี้ต้องไปตามหนี้กับลูกหนี้ตัวจริงก่อนมาเรียกร้องให้ผู้ค้ำประกันชดใช้หนี้แทน ถ้าหากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายได้แล้วจริง ๆ จึงมีสิทธิมาตามหนี้กับผู้ค้ำประกันต่อไป

สัญญาที่เป็นภาระเกินสมควรถือเป็นโมฆะ

– สำหรับสัญญาที่ระบุให้ผู้ค้ำประกันต้องรับภาระหนี้เกินไปจากขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และทำให้ผู้ค้ำประกันเสียเปรียบ ไม่เป็นธรรม จะไม่สามารถนำมาเรียกร้องกับผู้ค้ำประกันได้

ผู้ค้ำไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ถ้าเจ้าหนี้ไม่แจ้งให้ทราบภายใน 60 วัน

– ถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ เจ้าหนี้จะต้องทำหนังสือแจ้งให้ผู้ค้ำประกันรู้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เพราะหากผู้ค้ำประกันต้องจ่ายหนี้แทน จะได้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยกรณีผิดนัด และหากเกินระยะเวลา 60 วันแล้ว ผู้ค้ำประกันไม่ได้รับหนังสือแจ้งจากเจ้าหนี้ กรณีมีดอกเบี้ย ค่าทวงถาม ผู้ค้ำประกันจะไม่ต้องรับผิดชอบในส่วนนี้

ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับลูกหนี้มีผลต่อผู้ค้ำด้วย

– สำหรับข้อตกลงที่เจ้าหนี้กำหนดขึ้น เช่นการลดหนี้ให้ลูกหนี้ เพื่อให้สามารถปิดหนี้ได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีผลทางบวกกับลูกหนี้ สิทธินี้จะส่งต่อไปที่ผู้ค้ำประกันด้วย เท่ากับความรับผิดชอบหนี้ของผู้ค้ำประกันก็จะลดลงด้วย ยกเว้นข้อตกลงหรือการกระทำใด ๆ ของเจ้าหนี้ที่ส่งผลลบกับลูกหนี้จะถือเป็นโมฆะกับผู้ค้ำประกัน เรียกว่าผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบผลเสียที่เกิดกับลูกหนี้ไปด้วย

ผู้ค้ำหมดความรับผิดชอบ หากเจ้าหนี้ขยายเวลาผ่อนชำระ

– ถ้าเจ้าหนี้ขยายเวลาผ่อนชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ผู้ค้ำประกันถือว่าหมดภาระความรับผิดชอบต่อหนี้นั้นในฐานะผู้ค้ำประกัน และห้ามทำข้อตกลงล่วงหน้าให้ผู้ค้ำประกันยังคงสถานะเป็นผู้ค้ำประกันต่อไป หลังขยายเวลาชำระหนี้

หากจ่ายหนี้แทนแล้ว มีสิทธิเรียกร้องเงินคืนจากลูกหนี้ตัวจริง

– กรณีชดใช้หนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันให้เจ้าหนี้แล้ว เรามีสิทธิฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ได้ โดยสามารถเรียกคืนทั้งเงินต้น ดอกเบี้ย ค่าเสียหาย และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ได้จ่ายทดแทนไปในฐานะผู้ค้ำประกัน

ข้อควรรู้ก่อนคำประกันให้คนอื่น

-อ่านรายละเอียดให้ครบถ้วนว่าลูกหนี้ชำระหนี้ได้

-จะเซ็นค้ำประกันต้องทำเป็นหนังสือและลายมือชื่อของคู่สัญญา

-อ่านสัญญาก่อนทุกครั้ง ห้ามเซ็นสัญญา ที่เขียนว่า “ให้ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้”

-ผู้ค้ำประกันจะรับผิดแทนลูกหนี้ ตามที่ตกลงในสัญญาเท่านั้น

-หากเจ้าหนี้ลดหนี้ให้ลูกหนี้เท่าไร ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันก็ลดลงเท่านั้น

-หากข้อตกลงในสัญญาเป็นภาระให้กับผู้ค้ำประกันเกินสมควร ข้อตกลงนั้นจะเป็นโมฆะ

-ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ เมื่อยื่นขอชำระหนี้ตามกำหนดเวลา แต่เจ้าหนี้ปฏิเสธไม่ยอมรับการชำระหนี้นั้น

-ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบ หากเจ้าหนี้ยอมขยายเวลาผ่อนหนี้แก่ลูกหนี้

-หลังชำระหนี้แทนลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันมีสิทธิฟ้องลูกหนี้ตามวงเงินที่ชำระแทน พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายอื่นๆ

-เจ้าหนี้ต้องเรียกร้องจากลูกหนี้ให้ถึงที่สุดก่อน จึงสามารถเรียกร้องจากผู้ค้ำประกันได้