หมอน้อย หนุ่มสาวที่ทิ้งความสบาย มารักษาชีวิตคนทั้งเกาะบูโหลน

หัวใจหมอน้อยที่ยิ่งใหญ่ ทิ้งเงินเดือน 25,000 บาท มาดูเเลคนทั้งเกาะ วันนี้หัวใจพองโต มีอุปกรณ์ มีที่นอน พร้อมช่วยเหลือคน

“วันนี้หัวใจพองโตมาก”  หมอน้อยกล่าว…น้ำตาคลอ

หมอน้อย คือ หนุ่มผิวดำตาโตตัวเล็กๆคนนี้  ราวๆเดือนนี้แต่เป็นเมื่อปีก่อนอีจันและทีมข่าวนั่งเรือมาที่เกาะบูโหลนเลแห่งนี้ และได้สบตากับเขา “หมอน้อยแห่งบูโหลนเล”  แววตาที่มองคนแปลกหน้าอย่างเรามีทั้งเศร้าเคล้าความหวัง เรื่องราวของเขาพรั่งพรู เริ่มจาก เขาชื่อ รอฮีม  อายุ 24 ปี

เมื่อ 7 ปีก่อน เด็กหนุ่มคนนี้ ตอนนั้นอายุเพียง 17 ปี เป็นแค่หนุ่มชาวเกาะผิวคล้ำที่ข้ามไปทำงานรับจ้างในรีสอร์ทบนเกาะหลีเป๊ะ ในยามนั้น การท่องเที่ยวยังเฟื่องฟู ลูกจ้างอย่างเขาได้เงินเดือนและเงินทิปเดือนละกว่า 25,000 บาท พอที่จะตั้งหลักปักฐานและดูแลครอบครัวได้สบายๆ  แต่แล้ววันหนึ่งคุณครูจากเกาะบูโหลนเลนั่งเรือไปหาเขาถึงหลีเป๊ะ และบอกขอให้เขามารับทุนเพื่อเรียนเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสุขภาพของชาวเกาะบูโหลนเลซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา  รอฮีม ถาม ทำไม ครูเลือกเขา? ครูบอก เพราะทั้งเกาะมีเพียงเขาที่ตอนนี้ เรียนจบ ม.3 ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะรับทุนได้ หมดจากเขา ครูก็ไม่รู้จะหาใคร

จบคำครู รอฮีมตัดสินใจทิ้งเงินเดือน 25,000 บาทตามครูกลับเกาะ และเข้ารับทุนจากมูลนิธิชัยพัฒนา เรียนเป็นเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือสุขภาพในระยะเวลา 2 ปี

จากเด็กชาวเกาะ พูดแต่ภาษาเกาะ ต้องขึ้นมาอยู่บนแผ่นดิน พูดไทย เรียนศัพท์ยากๆ และต้องฝึกการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น  มันไม่ง่ายเลย  แต่เขามุ่งมั่นที่จะพูด ที่จะเรียน โดยมีพี่ๆจาก รพ.ละงู เป็นพี่เลี้ยงเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด

ตัดภาพกลับไปก่อนที่จะมีทุนนี้  บนเกาะบูโหลนเล ไม่มีระบบสาธารณะสุขใดๆ เนื่องจากจำนวนคนบนเกาะมีไม่ถึงเกณฑ์ที่จะตั้งสุขศาลาหรืออนามัยได้  

แต่เมื่อมีคน คนก็ต้องป่วย ก็ต้องเจ็บ ถึงคราวก็กระเตงใส่เรือหางยาวล่องเข้าฝั่งส่งรักษากันที่รพ.ใกล้สุด คือ รพ.ละงู  และวันหนึ่งมีเคส เป็นแม่ใกล้คลอด แบกกันลงเรือ ฝ่ามรสุมเข้าฝั่ง แต่ไม่ทันกาล แม่และเด็กเสียชีวิตกลางทาง เรื่องสลดครั้งนั้นกลายเป็นแรงผลักดันให้เราต้องมีหมอน้อยเพื่อช่วยคนในเกาะบูโหลนเลในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน และตอนนี้ รอฮีม คือ ความหวัง

2 ปีถัดมา รอฮีมนั่งเรือกลับไปยังเกาะบ้านเกิด  วันนั้นเขาสวมเสื้อหมอน้อย และได้ทำงานที่สุขศาลาเล็กๆ บนเกาะ พี่ๆหมอและพยาบาลจาก รพ.ละงู ประสานขอพื้นที่จาก รร. ตบแต่งเป็นสุขศาลาให้หมอน้อยได้ทำงาน  มันเป็นอาคารเล็กมากๆแต่ก็พอจะให้บริการกับชาวเกาะและนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้

เราถามหมอน้อยต้องทำอะไรบ้าง? หมอน้อยบอก ทำทุกอย่าง เพื่อช่วยชีวิตคนไข้ ตั้งแต่ทำคลอด ปั๊มหัวใจ ให้น้ำเกลือ เย็บแผล เขาทำทุกอย่างเท่าที่จะยื้อโอกาสให้คนไข้มีชีวิตไปถึงรพ.บนฝั่ง

สิ่งที่ยากลำบากของคนเจ็บป่วยบนเกาะ คือ การจะแบกคนป่วยมาลงเรือก็ไม่ง่าย เพราะถนนบนเกาะเล็กนิดเดียว พอลงเรือได้ก็ต้องพาคลื่นฝ่ามรสุมไปให้ถึงฝั่งให้ได้  รอฮีม เคยพยายามช่วยชีวิตคนไข้ด้วยการปั๊มหัวใจบนเรือ แต่เพราะมีเขาเพียงคนเดียว แรงจึงไม่พอ  และสภาพในเรือก็ไม่เอื้ออำนวย คืนนั้น เขาจึงต้องเสียคนไข้ไปขณะที่เรือลอยอยู่กลางทะเล

ในเวลาเดียวกัน พี่ๆจากรพ.ละงู ก็พยายามสร้างหมอน้อยรุ่นต่อมา จนวันนี้ มีหมอน้อยเรียนจบแล้วรวม 3 คน คือ รอฮีม และพี่แนน ทำงานที่บูโหลนดอน ซึ่งมีสุขศาลาอยู่แล้ว  น้องลิยานา ทำงานที่บูโหลนเล  ส่วนรอฮีม ดูแล 2 เกาะ สลับกันตามแต่ช่วงไหนเกาะใดมีคนไข้มากกว่ากัน

เรื่องเหมือนจะจบ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง แต่แท้จริง เบื้องหลังเสื้อหมอน้อย ยังคงมีแต่เรื่องเหน็ดเหนื่อย

ดวงตาเศร้าสร้อยบ่งบอกความลำบากและภาระที่แบกรับเกินวัย

เราถาม รับเงินเดือนจากใคร?  เขาตอบ จังหวัดหาเงินเดือนให้หมอน้อย ได้เพียง 2 คน คือ คนละ 6,000 บาท (ได้จากอบต.ปากน้ำ คนละ 5,000 บาท และอีก 1,000 บาท จาก รพ.ละงู ส่วนอีกคน งบจาก รพ.ละงู 6,000 บาท ซึ่งต้องของบ วนไป ขอใหม่ทุกปี ถ้าช่วงรอตกเบิกแปลว่า ต้องมีคนไม่ได้เงินเดือน บางที 3-4  เดือน เงินเดือนไม่ออกก็มี

เราถามแล้วอยู่ยังไง? ก็ต้องอยู่ให้ได้ คนบนเกาะส่วนใหญ่เป็นญาติกันทั้งนั้น และผม คือ ความหวังของพวกเขา ก็ต้องอยู่ให้รอด

เราถาม พักยังไง?  เขาตอบ อาศัยอยู่ที่บ้านพักครู ไม่มีที่พักเป็นของตัวเอง ถ้าไปส่งคนไข้บนฝั่งก็ต้องขอนอนที่ รพ. เพราะไม่มีเรือกลับ รอจนกว่าจะหาเรือกลับมาได้ ค่าเดินทางต้องออกเงินเอง

เราถาม อยากให้ช่วยอะไร?  อยากได้สุขศาลา เพราะสุขศาลาหลังนี้ ทางโรงเรียนจะขอพื้นที่คืน เราต้องหาที่ใหม่ ทางจังหวัดสตูลคุยกันหลายรอบแล้ว แต่ยังไม่มีทางออก ผมอยากให้พี่ช่วย แต่ก็ไม่กล้าหวัง

หนุ่มน้อยตรงหน้าพูดด้วยแววตาสิ้นหวัง เราบอกเขา “พี่จะช่วย ขอกลับไปทำการบ้านแว้บนึง แล้วพี่จะส่งข่าว”

ไม่กี่ชั่วโมงจากนั้น เราแจ้งข่าวดี เงินบริจาคซื้อเครื่องมือการแพทย์ให้กับรพ.สตูลที่ลูกเพจบริจาคถล่มทลายถึง 12 ล้านบาท เราจัดสรรปันงบบริจาคมา 1,200,000 บาท เพื่อสร้างสุขศาลา และ 300,000 บาท เพื่อทำระบบโซล่าเซล และอีก 600,000 บาท เป็นค่าเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นในสุขศาลาที่จะสร้างขึ้นใหม่

เราไม่รู้ว่า ข่าวนี้จะทำให้รอฮีมและน้องๆหมอน้อยดีใจเพียงใด แต่จำได้ถึงเสียงพี่แมว เจ้าหน้าที่ของรพ.ละงู ที่ดูโปรเจคหมอน้อยตั้งแต่ต้นถามกลับมาที่เราหลายสิบครั้งว่า นี่ คือ เรื่องจริงหรือคะ? เรื่องจริงหรือคะ? เรื่องจริงหรือคะ? จนเราต้องหัวเราะ ขณะที่เขา…ร้องไห้

14 กุมภาพันธ์ 2564 หนึ่งปีต่อมา ทีมงานอีจันเดินทางกลับไปยังเกาะบูโหลนเลอีกครั้ง

คราวนี้ ลูงอู๊ดอีจัน และน้องๆมูลนิธิเพชรเกษมขนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์  และรถสามล้อที่จะใช้เป็นรถพยาบาลบนเกาะไปส่งถึงสุขศาลาหลังใหม่เอี่ยม

เราได้เจอพี่เชษฐ์ พี่แมว และพี่จากรพ.ละงู ที่มาต้อนรับและเตรียมการเปิดสุขศาลาบูโหลนเล BY อีจัน Mahabbah แห่งใหม่

เราได้เจอรอฮีม และน้องๆหมอน้อยที่วันนี้ สีหน้ามีแต่รอยยิ้ม

เราได้เจอพี่เมธี ลาบานูน และพี่เจตน์ พี่บังดีน และอีกหลายๆคนจากองค์กรแห่งรัก ตัวตั้งตัวตี พาเราให้มาพบเรื่องราวของหมอน้อยเมื่อปีก่อน และดูแลจนการก่อสร้างสำเร็จด้วยดี พี่เจตน์บอกจะหาเตียงใส่ในห้องพักของหมอน้อยของเราด้วย  สุขศาลานี้ มีห้องพักให้หมอน้อยพัก ไม่ต้องไปอาศัยนอนกับคุณครูแล้วนะ

14 กุมภาพันธ์ 2564 เราทำพิธีเปิดสุขศาลาอย่างเรียบง่ายและอบอุ่น มีนายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้เกียรติเป็นประธานและมี ดร.สัณชัย กลิ่นพิกุล ผู้ประสานงานมูลนิธิชัยพัฒนา ให้เกียรติมาเป็นสักขีพยานด้วย

เราดีใจกับชาวเกาะที่ได้ลูกหลานมีอุดมการณ์และมีความเสียสละมากๆแบบหมอน้อยทั้ง 3 คน ขออวยพรให้น้องๆประสบความสำเร็จในการทำงานเป็นหมอน้อยของคนบนเกาะบูโหลนเลและบูโหลนดอนตลอดไป

อุปสรรคมากมายก่ายกอง เดินข้ามมาได้ถึงวันนี้ ต้องบอกว่า เก่งมาก ต่อสู้มาก แต่ยังมีอีกด่าน คือ เงินเดือนของหมอน้อย 1 คน ที่ยังไม่มีสังกัดแน่นอน ตอนนี้หางบประมาณมาได้ก็จะมีเงินเดือนจ่ายได้ถึงสิ้นปีนี้เท่านั้น  ก็ต้องติดตามต่อไปว่า หลังจากหมดงบฯ จะหางบก้อนใหม่ได้หรือไม่ และชีวิตหมอน้อยจะเป็นอย่างไร?

วันนี้จบภารกิจที่สัญญาไว้แล้ว ถึงเวลาโบกมือลาน้องกลับเข้าฝั่ง  คำลาทิ้งท้ายก่อนจากกัน รอฮิมบอกว่า “วันนี้ผม หัวใจพองโตมาก ผมสัญญาจะสู้ ไม่ท้อถอย ขอบคุณพี่อีจันมากจริงๆครับ”