
จากกรณีเรื่องราวลิขสิทธิ์เพลงของ เสก โลโซ หรือ เสกสรรค์ ศุขพิมาย ร็อกเกอร์ชื่อดัง โดยจุดเริ่มต้นของเรื่อง เกิดจากที่ เพจ SEK LOSO ได้ออกมาโพสต์ข้อความว่า

“ประกาศจากพี่เสกโลโซ เรื่องลิขสิทธิ์เพลงที่นักดนตรีประจำสามารถนำเพลงไปร้องได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์และในขณะนี้ลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมด ได้เป็นของนายเสกสรรค์ ศุขพิมาย และครอบครัวโดยสมบูรณ์ จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ตอนเย็น!ให้มันรู้กันไป ถ้าจะเอาเปรียบกันขนาดนี้”


หลังจากนั้น กานต์ วิภากร ภรรยาของ เสก ก็เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่องของ ลิขสิทธิ์เพลงของสามี เพราะรู้สึกว่า สัญญาที่เคยเซ็นไปกับทางต้นสังกัดอย่างแกรมมี่ ไม่เป็นธรรม เป็นเหตุให้ กานต์ บุกเข้าไปถึงตกแกรมมี่ เพื่อเข้าไปเจรจา ต่อมา กานต์ และ เสก ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว โดยทั้งคู่ต้องการให้ แกรมมี่ แก้ไขสัญญาให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ เพราะตอนนี้ มีทั้งแอปพลิเคชั่นฟังเพลงหลายแอป อยากเป็นตัวแทนให้พี่น้องศิลปิน นักแต่งเพลง สามารถนำเพลงของเสก ไปทำมาหากินได้ และรู้สึกว่า สัญญาที่ผ่านมา ไม่เป็นธรรม ซึ่งทาง เสก ก็ยืนยันว่า ไม่ได้อยากมีปัญหา และคิดว่าน่าจะคุยกันได้
ล่าสุดทาง แกรมมี่ได้ออกหนังสือ ระบุข้อความว่า

เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด และป้องกันความสับสนของสาธารณชนเกี่ยวกับประเด็นลิขสิทธิ์เพลงในช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทในเครือของบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ขอชี้แจงถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องดังนี้
ประเด็นเรื่องการจัดทำสัญญาลิขสิทธิ์เพลง ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาการทำสัญญาลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง GMM กับผู้สร้างสรรค์ทุกราย GMM ดำเนินการโดย เคารพเจตนารมณ์ของคู่สัญญาเป็นหลัก เปิดโอกาสให้คู่สัญญาทุกฝ่ายได้พิจารณาไตร่ตรอง เงื่อนไขข้อตกลงก่อนการลงนามในสัญญาทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติตามแนวทางธุรกิจระดับสากลที่ได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรมเพลง โดย GMM ได้แนบ รายละเอียด เพื่อเป็นการแจกแจงที่มาของส่วนแบ่งรายได้เป็นรายเดือนจากการใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ GMM จัดเก็บให้ผู้สร้างสรรค์ทราบตลอดมาไม่ว่าจะเป็นการนำเพลงไปผลิตในรูปแบบดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ หรือในรูปแบบสินค้าสำเร็จรูป (Physical) เช่น MP3 หรือ boxset ต่างๆ รวมถึงแผ่นเสียง (vinyl) เป็นต้น ซึ่ง GMM ได้ดำเนินการจ่ายส่วนแบ่งรายได้คืนให้แก่ผู้สร้างสรรค์จากทุกช่องทาง
ประเด็นเรื่องผู้มีสิทธิ์รับค่าตอบแทน และส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาลิขสิทธิ์เพลง GMM ไม่ปิดกั้นความประสงค์ของคู่สัญญาลิขสิทธิ์เพลงในกรณีที่ GMM ได้เข้าทำสัญญากับบริษัทของศิลปินซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลการจัดสรรผลตอบแทนดังกล่าวจาก GMM จะเป็นไปตามโครงสร้างการถือหุ้นของนิติบุคคลได้โดยตรง ส่วนในกรณีที่คู่สัญญาของ GMM เป็นบุคคลธรรมดาก็จะเป็นมรดกตกทอดไปยังทายาทของบุคคลนั้น หรือมอบให้บุคคลอื่นใดเป็นผู้รับผลประโยชน์ได้โดยตรงเช่นกัน หากคู่สัญญามีเจตนาดังกล่าว คู่สัญญาสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองโดยเสรี
จึงเรียนมาเพื่อทราบถึงความตั้งใจดีของ GMM ในการดำเนินธุรกิจเพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานเพลงและอุตสาหกรรมเพลงไทย
ขอแสดงความนับถือ
บริษัท จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จำกัด (มหาชน)
โดยทาง กานต์ ได้โพสต์หนังสือดังกล่าวลงอินสตาแกรม พร้อมข้อความระบุว่า “แล้วพบกัน”


งานนี้คงต้องติดตามต่อไปว่า สุดท้ายเรื่องนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน หากมีอะไรเพิ่มเติม แอดจะรายงานให้ทราบต่อไปค่ะ