พืชออสเตรเลีย กว่า 100 สายพันธุ์ ถูกไฟป่า “ฤดูร้อนสีดำ” เผาเกลี้ยง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ผลงานวิจัยโดยองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ ระบุ พืชออสเตรเลีย กว่า 100 สายพันธุ์ ถูกไฟป่า “ฤดูร้อนสีดำ” เผาเกลี้ยง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

องค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของไฟป่า “ฤดูร้อนสีดำ” ในช่วงปี 2562-2563 ต่อพันธุ์พืชในออสเตรเลีย และพบว่า ไฟป่าได้เผาไหม้ถิ่นอาศัยของพืช 816 ชนิด อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ขณะที่มีพืชท้องถิ่นอีกกว่า 150 ชนิด ถูกเผาไหม้ไปด้วย มากกว่าร้อยละ 90

“จำนวนประชากรเท่าที่มีการบันทึกไว้ของพืชราว 116 ชนิด ถูกไฟเผาไหม้หมด ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่า 2 เท่าของสายพันธุ์พืชประจำถิ่นของหมู่เกาะอังกฤษ”
บทความในงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร เนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์

โดย โรเบิร์ต ก็อดฟรี ผู้เขียนหลักของงานวิจัย ระบุว่า ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้เพียงแห่งเดียว มีพื้นที่ป่าไม้ถูกไฟป่าเผาไหม้ รวมแล้วเกือบ 50 ล้านไร่ ซึ่งขนาดของไฟป่า จำนวนพันธุ์พืช และชุมชนในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ อยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้งานวิจัยยังเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูอย่างตรงจุด เพื่อช่วยเหลือให้พันธุ์พืชที่อยู่ในสภาพเปราะบาง หลังต้องเผชิญไฟป่า เช่น กล้วยไม้อากาศ (Epiphytic Orchid) ที่มักเติบโตบนต้นไม้อื่น

พร้อมทั้งกล่าวเตือนว่า หลักฐานล่าสุดจากระบบนิเวศป่าไม้ของโลก ชี้ว่า เหตุไฟป่าสร้างความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อองค์ประกอบของสายพันธุ์ต่างๆ (species composition) ในพื้นที่เป็นวงกว้าง

“ในกรณีที่ไฟป่ารุนแรงมาก พื้นที่ป่าเหล่านั้น ได้ก้าวข้ามจุดเปลี่ยนไปแล้ว ทำให้อดีตผืนป่าเหลือแต่สายพันธุ์ที่ไม่ใช่พืชป่าดังเดิม”
บทความในงานวิจัยดังกล่าว ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสาร เนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์

นอกจากนี้ องค์การวิจัยฯ ยังระบุว่า คณะนักวิจัยได้นำข้อมูลแหล่งเกิดไฟป่า ที่ได้จากดาวเทียมสำรวจระยะไกล มาเปรียบเทียบกับบันทึกการพบพืช ที่นำมาจากคลังข้อมูลพืช เพื่อหาว่าสายพันธุ์พืช และระบบนิเวศใดบ้าง ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ที่ถูกไฟเผา

“ยิ่งขนาดของไฟป่าใหญ่มากเท่าไร ก็เท่ากับว่าเราจะต้องช่วยฟื้นฟูจำนวนประชากรของพืชสายพันธุ์ต่างๆ มากขึ้นด้วย แม้สายพันธุ์ที่แต่เดิม พบได้แพร่หลายเองก็เช่นกัน เพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบของโรคพืช ภัยจากสัตว์ป่า และภัยแล้ง”
โรเบิร์ต ก็อดฟรี ผู้เขียนหลักของงานวิจัย กล่าว