หมอจิตฯ เผยกับอีเต้ยอีจัน พลัดพรากกันนาน ความสัมพันธ์ก็ยากที่จะเกิด

อีเต้ยอีจัน Special Talk : มุมมองความพลัดพรากของหมอจิตเวช เผย พลัดพรากกันนาน ความสัมพันธ์ก็ยากที่จะเกิด แม้จะสายเลือดเดียวกันก็ตาม

อีเต้ยอีจัน Special วันนี้ เราได้มีโอกาสมานั่งคุยกับ นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็ก และวัยรุ่น ถึงมุมมองเรื่องความพลัดพราก สำหรับหมอจิตฯ เขาคิดอย่างไรกันนะ ซึ่งเขาได้ตอบกลับมาว่า

“ปัจจุบันมันมีการพลัดพรากมากขึ้น ยิ่งในสังคมปัจจุบันมันมีความเป็นเมืองมากขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น หลายครอบครัวต้องแยกจากกันไป โดยเฉพาะในช่วงที่มันมีวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ หรือในบางประเทศที่มีวิกฤติสงคราม ทำให้ครอบครัวเดิมที่อยู่ด้วยกัน จะต้องแยกจากกันไป โดยบางครั้งก็เป็นเหตุผลที่ไม่สามารถจัดการได้เป็นภาวะบีบบังคับ”

“การที่คนต้องแยกจากกันไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่ามันไม่ได้มีการพูดคุย ไม่ได้มีการอธิบาย ไม่ได้มีความเข้าใจ หลายกรณีเกิดจากผู้ใหญ่ที่แยกกันไป แต่บางกรณีคือผู้ใหญ่กับเด็กต้องแยกกัน ซึ่งความเข้าใจของเด็ก ไม่ได้เหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นผลกระทบก็มีความแตกต่างกันไป บางครอบครัวไม่ได้สนิทกันอยู่แล้ว ผลกระทบก็อาจจะไม่รุนแรงมากนัก การแยกกันไปก็เหมือนการแยกบ้านกันอยู่ แต่ปัญหามักเกิดกับครอบครัวที่สนิทชิดเชื้อกัน ใช้เวลาอยู่ด้วยกันตลอดนะครับ หรือในเด็กๆ ที่อยู่ในช่วง 3-4 ขวบ กำลังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ในครอบครัว แล้วเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ต้องพลัดพรากกันไป ผลกระทบมันไม่ได้เกิดแค่ ณ วันๆ นั้น ที่ทำให้เด็กรู้สึกแย่ หรือรู้สึกช็อก แต่ผลกระทบมันเกิดในระยะยาว ทั้งฝั่งตัวผู้ใหญ่เอง ทั้งฝั่งตัวเด็กเอง แล้วก็ต่อเนื่องอาจจะเป็น 5 ปี หรือ 10 ปีก็ได้”

“ถ้าเกิดพลัดพรากจากพ่อแม่ตั้งแต่เกิดนะครับ แน่นอนว่าพอแรกเกิดมา เด็กส่วนมากจะค่อยๆ สร้างความสัมพันธ์ ความผูกพันกับคุณแม่คุณพ่อ หรือผู้เลี้ยงดู การที่พ่อแม่แยกจากไปตั้งแต่เด็กยังไม่รู้เรื่องเลย ความสัมพันธ์ก็ยากที่จะเกิด แม้เราจะบอกว่ามีความสัมพันธ์ทางสายเลือดก็จริงนะ แต่ความสัมพันธ์มันเกิดจากการเลี้ยงดู การดูแล การเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน

ถ้าเกิดเด็กคนนั้นที่พลัดพรากจากคุณพ่อคุณแม่ไป มีคนอื่นๆ ในครอบครัว ไม่มีว่าจะเป็นญาติ ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายายคอยดูแลอย่างดี เด็กก็สามารถโตมามีพัฒนาการได้ เขาอาจจะไม่มีความผูกพันกับพ่อแม่ แต่เขาก็อาจจะได้รับคำอธิบายจากปู่ย่าตายายว่า สาเหตุอะไรที่คุณพ่อคุณแม่ต้องจากไปแล้วไม่ได้เจอกัน แต่สำหรับเด็กที่ไม่ได้โชคดีขนาดนั้น ไม่ได้มีครอบครัวที่มาสนับสนุนจุนเจือ เด็กคนนั้นก็อาจต้องประสบความยากลำบากในการใช้ชีวิต โตมาโดดเดี่ยวเดียวดาย การที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นก็ไม่ดีมากนัก คนหลักๆ คือพ่อแม่ที่เขาจะมีความสัมพันธ์ด้วย แต่เขากลับไม่มี แล้วญาติก็ไม่มีด้วย ก็อาจจะโตมาเป็นเด็กที่มีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์ มีความไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่นได้ยาก มีความมั่นใจตัวเองอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาเรื่องแบบเดียวกัน แต่กับคนละครอบครัว กับเด็กคนละคน ก็อาจจะส่งผลกระทบที่แตกต่างกันได้ครับ”

อย่างที่คุณหมอบอกครับ แม้จะสายเลือดเดียวกัน แล้วพลัดพรากกันไปนานมาก ก็ใช่ว่าจะสร้างความผูกพันก็ได้ง่ายๆ เพราะส่วนใหญ่ความรัก ความผูกพันก็เกิดจากการดูแลเอาใจใส่ และความใกล้ชิดสนิทสนม

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งมุมมองในฐานะจิตแพทย์นะครับ

แต่สุดท้ายแล้วต่างคนก็ต่างเรื่องราว ต่างนิสัย หลายเคสของอีเต้ยอีจัน แม้จะพลัดพรากกันไปนาน เขาก็สามารถเชื่อมใจกันได้ดีเลยครับ ^^