กทม.ห่วงสุขภาพ ปชช.เดินหน้า “กรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่”

กทม.ห่วงสุขภาพประชาชน เดินหน้า “กรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่” ตั้งเป้าลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ 30% ภายในปี 2568

เนื่องจาก ในวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก กรุงเทพมหานคร เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ จึงได้จัดโครงการ “กรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่”

วันนี้ (30 พ.ค. 65) นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการ “กรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่”

โครงการ “กรุงเทพฯ : มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่” เป็นโครงการร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ซึ่งตระหนักถึงพิษภัย และอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร

จึงได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหมุนเวียนไปยัง 6 กลุ่มเขต โดยมีเป้าหมาย คือ ลดการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของข้าราชการ และลูกจ้าง ของกรุงเทพมหานคร ประชาสัมพันธ์ ควบคุม ไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ตลอดจนการติดตามการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง และลดจำนวนผู้สูบบุหรี่รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้าลงจากปัจจุบันร้อยละ 30 ภายในปี 2568 ตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก ซึ่งจะเป็นการลดการเจ็บป่วยของคนกรุงเทพมหานคร ที่เกิดจากการสูบบุหรี่ได้

จากนั้นจะรวบรวมผลนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบของกรุงเทพมหานคร พัฒนาเป็นแผนของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นต้นแบบของมหานครไร้ควันบุหรี่ในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

สำหรับในครั้งนี้จัดอบรมในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ มีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 200 คน ประกอบด้วย

-ผู้อำนวยการเขต

-ฝ่ายสิ่งแวดล้อม

-ฝ่ายเทศกิจ

-ฝ่ายพัฒนาชุมชนฯ

-ฝ่ายการศึกษา

-โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร

-ศูนย์บริการสาธารณสุข

-ผู้แทนชุมชน

-ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่

โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การบรรยายให้ความรู้ ความเข้าใจต่อพิษภัยของยาสูบการช่วยเลิกยาสูบ การรักษาผู้ติดยาสูบ การเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 และการร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ ลด ละ เลิก ยาสูบหรือบุหรี่ของเขตแต่ละเขต

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เป็นภารกิจที่สำคัญ ของการบริหารราชการ เพราะสุขภาพของประชาชนเป็นพื้นฐานในการพัฒนา และความยั่งยืนของสังคมที่มีประสิทธิภาพ

กรุงเทพมหานคร จึงมีนโยบายในการให้ความรู้กับบุคลากร และประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ด้านพิษภัยของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้มีผลเสียต่อร่างกายผู้สูบเท่านั้น แต่ยังมีผลให้เกิดโรคเช่นเดียวกันกับบุคคลอื่น ที่ได้รับควันบุหรี่ที่พ่นออกมาด้วย ซึ่งเรียกว่า “บุหรี่มือสอง”

นอกจากนั้นในใบยาสูบ หรือสารสกัดจากใบยาสูบ ที่ใช้ในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารนิโคติน ที่นอกจากจะเป็นสารเสพติดแล้ว นิโคตินยังก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย ทั้งโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน หัวใจวาย เส้นเลือดสมองตีบ เกิดการเป็นอัมพาต อายุสั้น

การทำความเข้าใจในเรื่องพิษภัยของการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้เกิดความตระหนักและสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ในที่สุด สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ลดการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า การจัดอบรมครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการรวมพลังเครือข่าย เพื่อร่วมกันสร้างกรุงเทพมหานครให้เป็น มหานครต้นแบบไร้ควันบุหรี่ ประชาชนมีสุขภาพดี

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : ประชาสัมพันธ์ กทม.

คลิปอีจันแนะนำ
แร็ปภาษาไทย เข้าใจง่าย #ครูไทยหัวใจแร็ป