สธ. ยัน ฝีดาษวานร ระบาดไม่เร็ว รุนแรงน้อย เผย WHO ไม่ประกาศภาวะฉุกเฉิน

สธ. เผยทั่วโลกพบ ฝีดาษวานร 900 กว่าราย ใน 43 ประเทศ ยันระบาดไม่เร็ว รุนแรงน้อย ไม่พบผู้เสียชีวิต ขณะที่ WHO จัดว่าเสี่ยงปานกลาง ไม่ประกาศภาวะฉุกเฉิน

เมื่อวานนี้ (6 มิ.ย. 65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ว่า สถานการณ์ทั่วโลกเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 65 เจอผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานร 900 กว่าคน ใน 43 ประเทศ หลังมีการรายงานมาเป็นเดือนและมีการกระจายในหลายประเทศ แต่ลักษณะการระบาดไม่เร็วเมื่อเทียบโควิด ซึ่งหากเป็นโรคโควิด 19 อาจขึ้นหลัก 10 ล้านคนแล้ว นอกจากนี้ อาการยังไม่รุนแรง และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ซึ่งสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนี้เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีอัตราการป่วยเสียชีวิต 1% ไม่ใช่สายพันธุ์แอฟริกากลางที่มีความรุนแรงกว่า อัตราป่วยเสียชีวิตอยู่ที่ 10% ขณะนี้ที่มีรายงานจะเป็นทางยุโรป เช่น สเปน อังกฤษ โปรตุเกส เยอรมนี รวมถึงแคนาดา

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินโรคฝีดาษวานรว่า เป็นความเสี่ยงปานกลาง ยังไม่เป็นภาวะฉุกเฉิน ยังไม่ต้องจำกัดการเดินทาง และไม่ได้ประกาศเป็นโรคติดต่ออันตราย เพียงแต่เตือนให้ระมัดระวังและจัดระบบเฝ้าระวังซึ่งประเทศไทยดำเนินการแล้ว มีระบบคัดกรองคนเดินทางจากต่างประเทศ และกำหนดนิยามวินิจฉัยผู้ป่วย เตรียมห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัยและสอบสวนควบคุมโรค และเตรียมจัดหาวัคซีนหากจำเป็นต้องใช้ ซึ่งจากการเฝ้าระวัง ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยในประเทศไทย แต่เคยมีผู้ต้องสงสัย 6 ราย แต่ตรวจแล้วเป็นเชื้อเริมไม่ใช่ฝีดาษวานร ไม่มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

นพ.โอภาสกล่าวว่า ความเสี่ยงที่จะพบผู้ป่วยฝีดาษวานรในประเทศไทยเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเราเปิดประเทศทำให้มีผู้เดินทางเข้ามาเยอะขึ้น ถึงวันละประมาณหลายหมื่นคน แต่เชื่อว่าระบบเฝ้าระวังและความร่วมมือในการคัดกรองจะตรวจจับผู้ป่วยและควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดต่อไปได้ จึงไม่ต้องกังวลจนเกินไป สำหรับข้อมูลทางคลินิกของโรคฝีดาษวานร คือ ระยะฟักตัวยาว 5-21 วัน ต่างจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนค่อนข้างสั้น 2-7 วัน อาการสำคัญคือมีไข้ ปวดหัว ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัว เหมือนไข้หวัดทั่วไป แต่ไม่ค่อยมีน้ำมูก หลังเป็นไข้ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้น กระจายที่แขนขา ลำตัว และใบหน้า ลักษณะตุ่มมีหลายแบบตามระยะ ตั้งแต่ตุ่มแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง เป็นรอยบุ๋ม แห้งเป็นสะเก็ดและหลุดออก ส่วนใหญ่หายเองได้ การเกิดแผลเป็นเมื่อมีแบคทีเรียแทรกซ้อน

นพ.โอภาสกล่าวว่า การนำวัคซีนมาใช้จะพิจารณา 4 เรื่อง คือ 1.ประสิทธิภาพการป้องกัน 2.ความปลอดภัย 3.สถานการณ์ และ 4.ความจำเป็นในการจัดหา ต้องมีทั้ง 4 เรื่องครบถ้วน เพราะบางครั้งโรคไม่รุนแรงแต่วัคซีนมีผลข้างเคียงก็ต้องพิจารณา มาตรการตอนนี้คือการตรวจจับเฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้แพร่กระจายออกไป และแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาเมื่อแจ้งเตือนไป บางคนมีตุ่มขึ้นมาก็มารายงานเป็นสิ่งที่ดีทำให้สามารถตรวจจับได้เร็ว มาตรการยังเป็นการวินิจฉัย การแยกกักผู้ป่วย และสอบสวนโรคเป็นหลัก คล้ายกับโควิดช่วงแรก ถ้าเจอจริง ๆ ก็แยกกักเพื่อไม่ให้ไปแพร่ระบาดและติดตามผู้สัมผัส โดยต้องดูไทม์ไลน์ให้ละเอียด

คลิปอีจันแนะนำ
ช็อก! หนอนไชเข้าตัว