สธ. ห่วงเด็ก ยุคออนไลน์ ติดโซเชียล แนะ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

กรม สบส. กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กในยุคออนไลน์ ติดโซเชียล แนะผู้ปกครอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปลูกฝัง สุขบัญญัติ ให้เป็นนิสัย สุขภาพกาย ใจ แข็งแรง

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้เด็กมีการทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากต้องอยู่กับบ้าน ทำให้มีลักษณะเนือยนิ่ง เป็นการทำกิจกรรมที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย ใช้พลังงานในระดับต่ำ หรือการนั่งๆ นอนๆ ที่ไม่ได้นอนหลับ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคอ้วนลงพุง และทำให้เกิดการเสพสื่อ ติดโซเชียล และเล่นเกมส์ออนไลน์ อีกทั้งมีความเครียดจากการเรียนออนไลน์ และการเพ่งสายตากับหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อสายตา ระบบประสาทและสมองของเด็ก สิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก โดยยึดสุขบัญญัติในการเป็นเครื่องมือที่ผลักดันให้เด็กมีสุขภาพที่ดี ทั้งกายและใจ เช่น การปรับพฤติกรรมทานอาหาร หลีกเลี่ยงขนมหวาน ของหวาน ระหว่างมื้อ ออกกำลังกายเป็นประจำ สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น และทำกิจกรรมที่เด็กชอบเพื่อให้จิตใจร่างเริงแจ่มใส

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กในยุคออนไลน์ ผู้ปกครองสามารถสอนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้โดยใช้สุขบัญญัติ เป็นรากฐานในการปลูกฝังนิสัยให้เด็กได้นำไปปฏิบัติใช้ให้มีสุขภาพร่างกายใจที่แข็งแรง ดังนี้

1.สุขบัญญัติ ข้อที่ 4 กินอาหารสุกสะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ผู้ปกครองสามารถจัดเตรียมอาหารพวกผลไม้ ธัญพืช แทนขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน ที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาได้

2.สุขบัญญัติ ข้อที่ 6 สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น การเรียนออนไลน์ การติดโซเชียล ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการหากิจกรรมเสริมเพิ่มเติมในการชวนด็กๆ ทำกิจกรรมร่วมกันให้เด็กห่างไกลจากการเสพสื่อ ทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เช่น การทำขนม ปลูกต้นไม้ ไปท่องเทียวเพื่อลดพฤติกรรมติดสื่อออนไลน์ และทำข้อตกลงร่วมกันในการใช้สื่อโซเชียลกำหนดว่าสามารถให้เล่นได้ช่วงเวลาใด

3.สุขบัญญัติ ข้อที่ 8 ออกกําลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจําปี คนในครอบครัวชวนกันออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันหรือสัปดาห์ละ 3-5 วัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที มีการเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ หรือทุกๆ 30 นาที หมุนไหล่หรือคอ ยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการพักสายตาหลังจากเรียนออนไลน์

4.สุขบัญญัติ ข้อที่ 9 ทําจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬาเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน ผู้ปกครองพร้อมเปิดโอกาสให้เด็กสามารถระบายความเครียด ความในใจที่อยากบอกได้ ดังนั้น สุขบัญญัติจึงเป็นข้อกำหนดที่สำคัญที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ปลูกฝังให้กับเด็กในการเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้นจึงควรปฏิบัติ สุขบัญญัติให้เป็นนิสัย สุขภาพกาย ใจ แข็งแรง

คลิปอีจันแนะนำ
แอนนา เปิดใจครั้งแรก! ตอบทุกประเด็น! #คดีปริญญ์