อย. เตือน! อย่าซื้อยาผ่านเน็ต อ้างรักษาโคโรนา เสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยา

อย. เตือน อย่าเชื่อคำโฆษณาขายยาผ่านเน็ต อ้างรักษาโคโรนา อนาคตเสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยา

จากกรณีที่มีข่าวการโฆษณาจำหน่ายยาต้านไวรัสโลปินาเวียร์ ริโทรนาเวียร์ และโอเซลทามิเวียร์ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอ้างว่าสามารถใช้รักษาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว (6 กุมภาพันธ์ 2563) นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อคำโฆษณาซื้อยาจากอินเทอร์เน็ตมากินเอง เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เป็นการรักษาโดยอ้างอิงหลักการทางเภสัชวิทยาของการออกฤทธิ์ของยา ซึ่งยาโลปินาเวียร์และริโทรนาเวียร์ มีข้อบ่งใช้สำหรับต้านไวรัส HIV โดยออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพันธุกรรมของไวรัส ส่งผลให้เชื้อไวรัสลดจำนวนลง ส่วนยาโอเซลทามิเวียร์ มีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาไข้หวัดใหญ่

ภาพจากอีจัน

ดังนั้น การใช้ยาจึงจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด การซื้อยาต้านไวรัสมากินเองเป็นพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกรณีที่มีความเข้าใจผิด ซื้อมาใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

นอกจากไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้แล้ว ต่อไปในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยใด ๆ ก็ตาม อาจทำให้ใช้ยาดังกล่าวไม่ได้ผล ก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา

เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุด้วยว่า ผลิตภัณฑ์ยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต การขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ซึ่งวัตถุประสงค์ของการขายยาในสถานประกอบการที่ได้รับการอนุญาต เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยจึงต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำร้านในการซักถามประวัติการแพ้ยาจากคนไข้ ยาถือว่ามีทั้งคุณและโทษไม่ควรซื้อยาออนไลน์หรือทางเว็บไซต์ต่าง ๆ เพราะจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นยาจริงหรือ ยาปลอม ได้มาตรฐาน หรือมีความปลอดภัยมากน้อยเพียงไร หรืออาจได้รับผลข้างเคียงจากยาจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ภาพจากอีจัน

ซึ่งในประเทศไทย ยาโลปินาเวียร์ผสมกับริโทรนาเวียร์ ยาริโทรนาเวียร์เดี่ยว ยาโอเซลทามิเวียร์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีใบสั่งแพทย์ให้จำหน่ายได้

หากพบการจำหน่ายโดย ไม่มีใบสั่งแพทย์ ผู้จำหน่ายจะมีความผิดตามกฎหมาย โดยสามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ email : [email protected] หรือ โทร 0 2590 7325, 0 2590 7405