กรมควบคุมโรค ดัน “ยากันยุง” เข้าสิทธิบัตรทอง เบิกจ่ายฟรี

กรมควบคุมโรค ผลักดัน “ยากันยุง” เป็นเวชภัณฑ์โรงพยาบาล เบิกจ่ายให้ผู้ป่วยไข้เลือดออก สิทธิบัตรทองฟรี

ไข้เลือดออก เป็นอีกโรคที่อันตรายสุดๆ ค่ะ โดยมีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคเผยว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออก 80% กลับไปนอนรักษาที่บ้าน แล้วไม่ได้ทายากันยุง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงยุงลายกัดและแพร่เชื้อต่อ จึงได้เตรียมเสนอ “ยาทากันยุง” เป็นเวชภัณฑ์ ให้ รพ.เบิกจ่ายฟรีแก่ผู้ป่วยไข้เลือดออก ในการประชุมสัปดาห์หน้า  

วันที่ 23 ธ.ค.66 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของประเทศไทยในปี 2567 ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสัปดาห์หน้า และจะเสนอให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาลงนามออกประกาศต่อไปว่า สถานการณ์โรคของปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และปีหน้าคาดการณ์ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป 

ซึ่งเบื้องต้นถือว่าเป็นไปตามการพยากรณ์โรคเอาไว้ อย่างที่ปลายปี 2555 เราเคยบอกว่า ปี 2566 จะมีการระบาดของ “โรคไข้เลือดออก” ก็มีการระบาดในปีนี้ที่พบแนวโน้มสูงขึ้นมาอย่างมาก แต่จากที่เรามีการพยากรณ์และคาดการณ์ไว้ จึงมีการเตรียมพร้อมมาตรการเพื่อควบคุมโรค ซึ่งจากมาตรการควบคุมโรคต่างๆ ก็ทำให้เราสามารถควบคุมโรคได้ค่อนข้างดี  

“เรามีการเพิ่มหลายๆ เรื่อง อย่างวันนี้เราก็เริ่มคุยกันว่า อยากให้ยาทากันยุงเป็นเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคไข้เลือดออกตัวหนึ่ง เพราะพวกเราไม่ได้ทายากันยุงกัน เวลารักษาโรคไข้เลือดออก ส่วนใหญ่ไม่ได้นอนใน รพ.ทั้งหมด 80% กลับไปนอนรักษาที่บ้าน แล้วไม่ได้ทายากันยุงในคนป่วย 

แม้จะมีการพ่นยาฆ่ายุงตัวแก่ไปแล้ว แต่ถ้าสมมติมีลูกน้ำขึ้นมาเป็นยุงใหม่ เมื่อยุงมากัดคนที่มีเชื้อรักษาที่บ้าน ก็มีโอกาสไปกัดคนอื่นแล้วแพร่เชื้อต่อได้ ปลายปี 2566 เราเริ่มรณรงค์ให้ใช้ยาทากันยุง เหมือนที่เรารณรงค์เรื่องของการป้องกันตัวไรอ่อน เมื่อเวลาไปเที่ยวช่วงหน้าหนาวและมักไปนอนกางเต็นท์ ซึ่งไรอ่อนจะทำให้เกิดโรคไข้รากสาดน้อย ถ้าไปนอนแล้วทายากันยุงพวกนี้ก็จะป้องกันแมลงพวกนี้มากัดได้” นพ.ธงชัยกล่าว  

ทั้งนี้ นพ.ธงชัย ย้ำว่า ตอนนี้เรากำลังรณรงค์เรื่องนี้ แต่เนื่องจากยากันยุงยังไม่สามารถเบิกได้ ยังไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ก็ต้องไปขับเคลื่อนให้เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองก่อน ซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะนำเสนอข้อมูลทางวิชาการไปให้ทางบัตรทองพิจารณาเข้าสู่สิทธิประโยชน์ เพื่อเบิกจ่ายได้ต่อไป 

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาดูกันต่อค่ะว่า การพิจารณา “ยากันยุง” เข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองจะเป็นยังไงต่อไป 

คลิปอีจันแนะนำ

พ่อใจเหี้ยม จ้างวานฆ่า ลูก-เมีย