
น่าคิดมาก? “นมเปรี้ยว” สามารถลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้จริงหรอ?
ต้องขอเกริ่นก่อนว่าก่อนหน้านี้จากกรณีเหตุระทึกที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 22.16 น. ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ เมื่อ ผอ.โรงพยาบาลดัง จ.ชัยภูมิ ก่อเหตุเมาแล้วขับซิ่งชนทีมข่าวอมรินทร์และไทยรัฐ บาดเจ็บ 2 ราย ต่อมา ทราบชื่อคนขับคือ นพ.พุทธา ผอ.โรงพยาบาล หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ อยู่ในท่าทางมึนเมา ตำรวจได้เชิญตัวไปสอบปากคำที่ สภ.เมืองชัยภูมิก่อนที่จะมีการเป่าวัดค่าแอลกอฮอล์ นพ.พุทธา ได้ขอตัวไปดื่มน้ำ ดื้มนมเปรี้ยว และเข้าห้องน้ำ ทางทีมข่าวอมรินทร์ทีวี จึงเดินตามในห้องน้ำ เพื่อให้ นพ.พุทธา วัดค่าแอลกอฮอล์โดยเร็ว เพราะกังวลว่า ถ้ายิ่งดึงเวลาอาจทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อน ทั้งนี้ก็ทำให้มีกระแสตอบกลับมา เมื่อผู้ต้องหาขอดื่มนมเปรี้ยวนั้น จะมีผลต่อการลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมั้ย?

ล่าสุดวันนี้ (1 พ.ค.68) รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ เกี่ยวกับประเด็นนี้เพื่อคลายข้อสงสัย โดยระบุข้อความว่า…
“นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตสามารถ ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดได้จริงหรือ?
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยทางการแพทย์ที่ยืนยันว่า “นมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตสามารถลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด (Blood Alcohol Concentration, BAC) ได้โดยตรงนะครับ

หลักฐานที่มีชี้ว่า:
1. แอลกอฮอล์จะเข้าสู่ระบบย่อยอาหารเหมือนอาหารอื่น ๆ ทั่วไป แต่แอลกอฮอล์จะไม่ได้ถูกย่อยในรูปแบบเดียวกันกับอาหาร กล่าวคือประมาณ 20% ของแอลกอฮอล์ที่ได้รับเข้าไปในช่วงแรกจะไหลเข้าสู่หลอดเลือด และถูกพาไปยังสมอง ส่วนอีก 80% ที่เหลือจะถูกส่งไปที่ลำไส้เล็กและเข้าสู่กระแสเลือดต่อไป หลังจากนั้นแอลกอฮอล์จะถูกกำจัดออกจากร่างกายโดยตับ
2. การดูดซึมแอลกอฮอล์
• แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมผ่านเยื่อบุในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
• ถ้ากระเพาะมีอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีโปรตีน/ไขมัน เช่น นม หรือนมเปรี้ยว การดูดซึมอาจ “ช้าลง” เล็กน้อย เพราะทำให้กระเพาะย่อยช้าลง แต่ไม่ได้เปลี่ยน “ปริมาณแอลกอฮอล์รวม” ที่เข้าสู่ร่างกาย
3. การเผาผลาญแอลกอฮอล์
• ตับเป็นอวัยวะหลักที่สลายแอลกอฮอล์ ด้วยเอนไซม์ alcohol dehydrogenase (ADH)
• ไม่มีอาหารหรือเครื่องดื่มใด (รวมถึงนมเปรี้ยว) ที่เร่งกระบวนการเผาผลาญนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทำไมคนถึงเข้าใจผิด?
เพราะเวลาที่ดื่มนมเปรี้ยวก่อนดื่มแอลกอฮอล์ (เน้นว่าก่อนดื่มแอลกอฮอล์นะครับ) จะรู้สึกเมาช้ากว่าปกติ เนื่องจากการดูดซึมช้าลง หลายคนจึงเข้าใจผิดคิดว่านมเปรี้ยว “ลดปริมาณแอลกอฮอล์” ทั้งที่จริงแล้วแค่ “หน่วงเวลา” ไม่ได้ลดปริมาณแอลกอฮอล์จริง เป่ายังไงก็เจอ นะครับ
เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์
ปล. ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยนะครับ”
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์
https://www.facebook.com/share/p/1DaQBkUneo
ข้อมูลอ้างอิง
1. National Institute on Alcohol Abuse and Alcoholism (NIAAA), USA ระบุว่า “ไม่มีวิธีใดสามารถทำให้ตับเผาผลาญแอลกอฮอล์เร็วขึ้น นอกจากเวลา”
อ้างอิงจาก: https://www.niaaa.nih.gov/…/brochures-and…/hangovers
2. Journal of Clinical Medicine (2020) ระบุว่า “อาหารอาจชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์ได้บ้าง แต่ไม่สามารถลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดหรือเร่งการขับออกได้”
อ้างอิงจาก: Čvorović J, Vučković S, Ristović M, Stojanović D. Intoxication, metabolism, and elimination of ethanol: A review of the basics. J Clin Med. 2020;9(2):457. doi:10.3390/jcm9020457
3. Japanese Journal of Alcohol Studies & Drug Dependence (2007) ระบุว่า “อาหารและนมแค่ช่วยชะลอการขึ้นของ BAC ชั่วคราว แต่สุดท้ายระดับ BAC รวมยังคงใกล้เคียงกัน”
อ้างอิงข้อมูลจาก: Yamada H, Saito T, Nakajima T. Effect of food and milk on alcohol absorption: A human study. Jpn J Alcohol Stud Drug Depend. 2007;42(3):123-130.