อย่าชะล่าใจ! คำเตือนจากผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด

ต้องอ่าน! คำเตือนจากผู้ป่วยลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด เพราะเกือบตายเพราะความชะล่าใจ

จัน ได้อ่านโพสต์ของคุณ Prasert Wiwatta ที่เล่าเรื่องการเป็น “ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด” การตรวจพบ และการดื้อไม่กินยาเพราะชะล่าใจว่าไม่ได้มีอาการอะไรก็ไม่ต้องกินยาตามที่หมอแนะนำ จนมาสู่วันที่เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแบบเฉียบพลันจนทำให้เกือบตายเพราะความประมาท  เป็นข้อมูลที่ดีมากๆ จึงขอนำมาบอกต่อกันนะคะ

นี่คือเรื่องราวที่ คุณ Prasert Wiwatta ได้โพสต์เล่าไว้ 2 ตอน

ตอนแรกเป็นการย้อนเล่าถึงการได้ไปตรวจหัวใจจากการตรวจ Calcium CT score เมื่อ 2 ปี ก่อน ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเพื่อดูว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดตีบหรือไม่ หากผลการตรวจมีค่าแคลเซียมสูง ก็หมายความว่าเรามีความเสี่ยงที่จะเกิดมาก

ซึ่งผลการตรวจนี้ระบุว่า คุณ Prasert Wiwatta มีค่าแคลเซียม 300++!!! ทั้งที่ดูแลสุขภาพอย่างดี บุหรี่ไม่สูบ เหล้าไม่กินมาสิบกว่าปี ออกกำลังสม่ำเสมอ

หลังทราบผลหมอแนะนำว่าควรรีบเข้ารับการตรวจด้วยการฉีดสีเข้าหลอดเลือด เพื่อดูว่ามีหลอดเลือดเส้นไหนตีบบ้าง หรือหากไม่ตรวจก็ควรจะต้องทานยาละลายลิ่มเลือด (Aspirin) และยาลดไขมันในหลอดเลือด (Lipitor) ทันที เนื่องจากมีความเสี่ยงจากค่าไขมันในหลอดเลือด LDL สูงมากถึง 160-170 ด้วย

คุณ Prasert Wiwatta เล่าว่า เพราะมั่นใจว่าตัวเองดูแลสุขภาพดีขนาดนี้ ไม่น่าจะเป็นอะไร แล้วอยู่ดีๆ ไม่ได้เป็นอะไรจะไปทานยาทำไมให้เกิดผลข้างเคียง จากนั้นก็ได้ไปตรวจ Echo ผลการตรวจ คือกล้ามเนื้อหัวใจมีการสูบฉีดดีมาก คุณหมอถึงกับบอกว่า หัวใจทำงานเหมือนคนอายุ 35 ปี

แต่! คุณหมอก็ได้เตือนว่า ถึงแม้ผลการตรวจ Echo จะออกมาดี แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวกับค่าแคลเซียมที่เกาะผนังหลอดเลือด เนื่องจากมีความเสี่ยงอีก 2 ตัวคือ ค่า LDL สูง และคุณพ่อผมมีประวัติเป็นโรคหัวใจเช่นกัน คุณหมอจึงสั่งให้ทานยา 2 ตัว แม้รับยากลับมาบ้านแต่ก็ไม่กินยา เนื่องจากฟังมาเยอะเรื่องผลข้างเคียงของแอสไพรินว่าทำให้เลือดหยุดยาก และกัดกระเพาะ ส่วนยาลดไขมันนี่ผลข้างเคียงเยอะแยะ ในเมื่อยังไม่เป็นไร จะไปกินทำไม

และจุดนี้เองที่นำมาสู่สิ่งที่คุณ Prasert Wiwatta โพสต์ไว้ใน EP 2 คือ เมื่อผมเกือบตายเพราะความประมาท

โพสต์นี้ คุณ Prasert Wiwatta เล่าว่า ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในช่วงเดือน ส.ค.64 ซึ่งเป็นเข็มที่ 2 ซึ่งหลังฉีดวัคซีนมีคำแนะนำให้งดออกกำลังกายหนักประมาณอาทิตย์ หรือสองอาทิตย์ ซึ่งก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตอนเข็มแรก แต่พอเข็มสองก็ลืมสนิท ด้วยความที่เป็นสายบ้าพลัง ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็ออกไปเดินไปวิ่ง

วันที่ 26 กันยายน 2564 วันเกิดเหตุ วันนั้นครอบครัวเราอยู่ที่เขาใหญ่กันพร้อมหน้า เพราะเป็นวันครบรอบวันเปิดร้านกาแฟ จำได้ว่าก่อนหน้าวันเกิดเหตุ นอนไม่ค่อยหลับมาติดต่อกันเกือบอาทิตย์ แต่ก็ยังออกกำลังกายตอนเช้าด้วยการเดินสลับวิ่งตามปกติ โดยไม่เฉลียวใจว่ากำลังจะเกิดเหตุการณ์อันตรายถึงชีวิตกับตัวเอง

เช้าวันนั้น หลังจากอาบน้ำเสร็จ อยู่ดีๆ ก็เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ขอย้ำว่าหายใจไม่ออกจริงๆ คือเหมือนจะสูดหายใจไม่เข้า เบ่งให้ออกก็ไม่ออก รู้สึกผิดปกติ แต่ก็ยังคิดว่าเดี๋ยวน่าจะหาย อาจจะกรดไหลย้อน จากอาหารที่เพิ่งทาน ลองนอนสักพักอาจจะดีขึ้น แต่นอนไปสักพักพบว่าอาการไม่หาย แต่เริ่มมีอาการชาลงไปที่แขนซ้าย เห็นท่าไม่ดี จึงโทรหาคุณเก๋ให้รีบพาไปหาหมอด่วน

ระหว่างที่นั่งรถไปโรงพยาบาล ไม่ถึง 10 นาที คุณเก๋มองหน้าผ่านทางกระจกหลังแล้วบอกว่าหน้าผมซีดมาก เลยตัดสินใจแวะที่คลีนิคของโรงพยาบาลกรุงเทพซึ่งอยู่ตรงเขาใหญ่ ซึ่งหลังจากหมอตรวจก็สันนิษฐานว่าน่าจะมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจแบบเฉียบพลัน หมอเลยรีบให้ยาละลายลิ่มเลือดอมใต้ลิ้น จากนั้นโทรเรียกรถพยาบาลจากปากช่องให้มารับ

คุณ Prasert Wiwatta เล่าว่า ระหว่างที่อยู่ในห้องผ่าตัดเพื่อทำการรักษาด้วยการใส่ขดลวดเข้าไปขยายหลอดเลือดหัวใจ คุณหมอไม่ได้ให้ยาสลบ แต่ใช้วิธีบล็อคสันหลัง เพื่อให้เรารู้สึกตัวตลอดเวลาการรักษา ช่วงที่คุณหมอใส่ขดลวดเข้าไป ปรากฎว่าเกิดอาการหน้ามืดเวียนศีรษะอย่างแรง มีอาการอยากอาเจียนออกมามาก หูก็ได้ยินเสียงพยาบาลตะโกนบอกคุณหมอ คุณหมอก็เหมือนจะสั่งให้รีบฉีดยาอะไรสักอย่างเข้าไปในเส้นเลือดด่วน จำความรู้สึกตอนนั้นได้ดีเลยว่า ผมบอกตัวเองว่า หรือนี่เรากำลังจะตาย?

เหลือบไปดูจอ ก็เห็นความดันตัวเองลดลงเรื่อยๆ หัวใจเริ่มเต้นช้าลง บอกตรงๆ ตอนนั้นคิดเลยว่าคงตายแน่ๆ รีบบอกคุณหมอว่า ไม่ไหวแล้ว กำลังจะอาเจียน แต่พอคุณหมอฉีดยาเข้าไปในเส้นเลือด หัวใจก็กลับมาเต้นอย่างแรง แล้วอาการก็ค่อยๆ กลับมาปกติ

ตอนหลังจากการพักฟื้นจนเกือบเป็นปกติ ก็มีโอกาสถามคุณหมออีกครั้งว่าตอนนั้นคือรู้สึกเหมือนจะตาย คุณหมอก็บอกว่า คนไข้ 20-30% ร่างกายจะต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไป ซึ่งก็คือขดลวดที่ใส่เข้าไปขยายหลอดเลือดนั่นเอง คุณหมอยังบอกว่าไม่ใช่ทุกคนที่ทำการรักษาจะรอดชีวิต

ผมโชคดีที่รอดมาได้!!!

ที่สำคัญ หลังการรักษาคุณหมอได้ทำการอัลตราซาวด์หัวใจอีกครั้งเพื่อตรวจดูกล้ามเนื้อหัวใจว่ามีความเสียหายมากน้อยแค่ไหน พบว่า กล้ามเนื้อหัวใจไม่มีความเสียหายเลย เพราะหากพิจารณาจากระยะเวลาตั้งแต่มีอาการจนถึงการเข้ารับการรักษา อย่างน้อยกล้ามเนื้อหัวใจจะต้องเสียหาย 20-30% แต่ผลของดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายเป็นประจำทำให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่เสียหาย

คุณ Prasert Wiwatta เล่าทิ้งท้ายว่า ตลอดเวลาของการเดินทางตั้งแต่ออกจากบ้านเพื่อไปโรงพยาบาล ได้ระลึกถึงคำสอนของครูบาอาจารย์ ในเรื่องการปฏิบัติตัวเมื่อใกล้จะตายโดยตลอด กล่าวคือ ระหว่างที่นอนอยู่ในรถพยาบาล ก็ไม่ได้มีอาการตื่นตระหนกแต่อย่างใด ตรงกันข้ามก็มีสติดี นอนพิจารณาถึงความตายที่กำลังจะ มาเยือน แล้วก็นอนดูลมหายใจไปตลอดทาง สลับกับการระลึกถึงกุศลต่างๆ ที่ได้เคยทำมา จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม การปฏิบัติตามที่ว่าทำให้ความดันโลหิตของอยู่ในระดับปกติตลอดตั้งแต่เดินทางจนเข้าห้องผ่าตัด ยังไงก็พยายามฝึกปฏิบัติไว้นะครับ ทุกคนมีโอกาสได้ใช้แน่ๆ เมื่อวันนั้นมาถึง

เป็นข้อมูลที่ดีมากๆ เลยนะคะ ทั้งการให้แง่คิดในการดูแลสุขภาพและการใช้ชีวิต เพราะโรคภัยไข้เจ็บเป็นเรื่องการรู้ก่อนก็รักษาทัน

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/prasert.osk

คลิปอีจัน แนะนำ