รู้หรือไม่ ? คำโฆษณาเกินจริงที่ “ห้ามใช้” กับผลิตภัณฑ์อาหารและยา

คำโฆษณาเกินจริงบนผลิตภัณฑ์อาหารและยา ที่ผู้ผลิตและผู้บริโภคต้องรู้และเข้าใจตามหลักเกณฑ์ อย. กับข้อความต้องห้ามใช้เพียงเพื่อดึงดูดโน้มน้าวใจ

หลายคนที่เริ่มทำธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ การที่จะทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักและติดใจลูกค้าได้นั้น คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำการโฆษณาแบรนด์สินค้าให้โดนใจ และสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจเรียนรู้เป็นอย่างมาก เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นหรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ในทางการค้า และดึงดูดโน้มน้าวให้คนดูคล้อยตามนั้นคงต้องเลือกใช้คำเพื่อใช้ในการโฆษณาที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

สำหรับข้อความหรือข้อความเสียง ภาพ เครื่องหมายสัญลักษณ์ หรือการกระทำที่จะทำให้เข้าใจได้ง่าย ในมุมของธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้าจำเป็นต้องระวังเรื่องการใช้คำโฆษณาเกินจริง ไม่ให้อวดอ้างสรรพคุณเกินความเป็นจริง ส่วนในมุมผู้บริโภคก็ควรต้องรู้ไว้เช่นกัน เพื่อนำไปพิจารณาว่าสินค้าที่กำลังจะซื้อนั้น เข้าข่ายโฆษณาเกินจริงไหม ส่วนใหญ่มักพบในผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเสริม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีสัดส่วนของผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อค่อนข้างสูง สำหรับข้อมูลจากคู่มือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ คู่มือการโฆษณาเครื่องสำอาง จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณะสุข ก็มีข้อแนะนำที่เหมาะสมที่ต้องทำความเข้าใจให้มาก

โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบพบคำโฆษณาที่ถูกนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เป็นเพียงคำชักจูงหรือเชิญชวนให้หลงเชื่อและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งเมื่อลองใช้จริงกลับไม่เป็นไปตามที่โฆษณาไว้ ซึ่งคำอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงมีผลค่อนข้างมากต่อการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์มาใช้เพราะหวังว่าผลิตภัณฑ์ที่เลือกนั้นจะช่วยแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ได้ เมื่อเจอโฆษณาที่อ้างว่าแก้ปัญหานั้นได้ ก็มีโอกาสที่จะหลงเชื่อโดยไม่ทันได้ใช้วิจารณญาณในการไตร่ตรองเพราะการใช้คำโฆษณาเกินจริง ทำให้ผู้บริโภคคาดหวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ ว่าจะเปลี่ยนปัญหาของผู้บริโภคได้

ข้อกำหนดการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ตามสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

  • ไม่ให้สรรพคุณที่ไม่เป็นความจริง หรือโอ้อวดสรรพคุณที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ เช่น ช่วยรักษาโรค บำรุงสมอง บำรุงผิว เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ

  • ต้องแสดงสรรพคุณของอาหารนั้น ๆ ทั้งตำรับ ไม่อนุญาติให้แสดงสรรพคุณของแต่ละส่วนประกอบ

  • ข้อความโฆษณาต้องไม่มีการเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ของผู้อื่น

  • ห้ามนำบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณะสุข (ทั้งในกรณีที่ใช้เจ้าตัวจริง ๆ หรือ กรณีที่นำบุคคลอื่นมาแอบอ้าง) มาแนะนำหรือรับรองผลิตภัณฑ์

  • ระบุข้อความหรือคำเตือน ตามชนิดของผลิตภัณฑ์ ตามที่ อย. กำหนด เช่น “อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค” / “ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด” / “เด็กอายุต่ำกว่า x ปี ไม่ควรบริโภค”

  • โฆษณาห้ามขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย

  • หากจะกล่าวอ้างสรรพคุณต้องมีการส่งงานวิจัยที่เชื่อถือได้ให้ตรวจสอบด้วย

คำที่ไม่อนุญาตในการโฆษณาคุณภาพ คุณประโยชน์ หรือสรรพคุณของอาหาร (อิงหลักเกณฑ์การโฆษณาอาหาร พ.ศ. 2561 ) 

  • ศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์ ปาฏิหาริย์ วิเศษ

  • เลิศที่สุด ดีเลิศ ชนะเลิศ ชั้นเลิศ เลิศเลอ ล้ำเลิศ เลิศล้ำ

  • ยอด ยอดเยี่ยม ยอดไปเลย เยี่ยมยอด เยี่ยมไปเลย สุดยอด

  • ที่หนึ่ง หนึ่งเดียว ที่หนึ่งเลย

  • ที่สุด ดีที่สุด ดีเด็ด สูงสุด

  • เด็ดขาด หายห่วง หายขาด หมดกังวล

  • สุดเหวี่ยง

  • ไม่มีผลข้างเคียง ไร้ผลข้างเคียง

อีกตัวอย่างคำต้องห้ามในการใช้โฆษณาบนเครื่องสำอาง

ไร้สารเคมี / ไม่มีสารเจือปน / ไร้สารพิษ / ทำจากธรรมชาติ 100% / ดูดซับของเสียตกค้างใต้ผิว / เสริมหน้าอก / สลายไขมัน / ยกกระชับปรับรูปหน้าเรียว / ต่อต้านอนุมูลอิสระ / ลดการสร้างเม็ดสีผิว  / ลดผมหงอก / เพิ่มสมรรถภาพท่านชาย / รีแพร์ช่องคลอด / แก้ปัญหาไม่แข็งตัว

เพียงแค่รู้เท่าทันการโฆษณาอย่าหลงเชื่อซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง มารับประทาน เพราะผลที่ตามมาอาจจบไม่สวย อีกทั้งยังผลข้างเคียงที่อันตรายอย่างเกินจะคาดถึง