สธ. พบสัดส่วน โอมิครอน BA.2 เพิ่มขึ้น ถอดรหัส พบ 4 รายเข้าข่าย BA.2.2

สธ. เผย โควิด 19 ในประเทศไทยเป็น โอมิครอน 99.7% สัดส่วน BA.2 เพิ่มขึ้น และพบ 4 ราย ที่ เข้าข่าย BA.2.2 แต่ต้องรอการวิเคราะห์จาก GISAID

เมื่อวานนี้ (14 มี.ค. 65) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด 19 โดย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 ช่วงวันที่ 5-11 มี.ค. 65 พบสายพันธุ์เดลตาเพียง 6 ราย คิดเป็น 0.3% ส่วนที่เหลือ 1,961 ราย เป็นสายพันธุ์โอมิครอน คิดเป็น 99.7% และเมื่อจำแนกสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนพบเป็น BA.1 จำนวน 610 ราย คิดเป็น 32% และ BA.2 จำนวน 1,272 ราย คิดเป็น 68% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนที่พบ 52% และมีการกระจายทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ

สำหรับ BA.2 ยังมีการแบ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยอีก 3 สายพันธุ์ คือ BA.2.1 , BA.2.2 และ BA.2.3 ซึ่งเป็นการแบ่งของกลุ่มนักวิเคราะห์ข้อมูล ที่เตรียมส่งเข้ามายังฐานข้อมูลโลก GISAID แต่ยังไม่ได้กำหนดชื่อสายพันธุ์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องรอการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ก่อน คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็ววันนี้

สำหรับ BA.2.2 มีการกลายพันธุ์ที่โปรตีนหนามบางตำแหน่ง ที่มีรายงานพบมากที่ฮ่องกง และพบได้บ้างที่อังกฤษ ตามที่มีการเสนอข่าวในช่วง 2-3 วันมานี้นั้น ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นในฮ่องกง เนื่องจากการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น ต้องมีการติดเชื้อมาก่อนอย่างน้อย 7-8 วัน และหากมีการติดเชื้อจำนวนมากจนเกินกว่าระบบการแพทย์รองรับได้ ก็อาจทำให้การเสียชีวิตเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังไม่พบหลักฐานว่า ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่ปอดมากขึ้น หรือทำลายอวัยวะมากขึ้น และในอังกฤษก็ไม่ได้พบการติดเชื้อหรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นต่างจากเดิม

สำหรับประเทศไทยมีการตรวจโดยการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งตัว ประมาณ 500-600 รายต่อสัปดาห์ ขณะนี้พบ 4 ราย ที่มีโอกาสเป็นสายพันธุ์ BA.2.2 โดยเป็นต่างชาติ 1 ราย และคนไทย 3 ราย แต่รายละเอียดต่างๆ ยังอยู่ในระหว่างการวิเคราะห์ อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความสามารถในการแพร่เชื้อ ความรุนแรง หรือความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อหรือวัคซีน ยังไม่พบสัญญาณที่น่ากังวล

คลิปแนะนำอีจัน
ช่วยเด็กชาย โดนลักไปขอทาน