หมอ เผยประสบการณ์ ดูแล 10 ชีวิต ติดโควิด ทั้งบ้านแบบ Home Isolation

หมอ โพสต์เฟซบุ๊ก เผยประสบการณ์ ดูแลครอบครัว ติดโควิด ทั้งบ้าน 10 คน แบบ Home Isolation

โควิด ระลอกใหม่ที่ระบาดในไทย ส่งผลให้มี ผู้ติดเชื้อโควิด พุ่งสูงต่อเนื่องทุกวัน รวมถึงมียอดผู้เสียชีวิตสะสมเป็นจำนวนมาก วิกฤตนี้ทำให้หลายโรงพยาบาลเตียงไม่พอรักษาผู้ป่วย จนทำให้ต้องปิดห้องฉุกเฉิน รวมถึงงดรับเคสฉุกเฉินทุกกรณี

การเพิ่มขึ้นของจำนวน ผู้ป่วยโควิด และไม่มีเตียงรักษา กรมการแพทย์ จึงได้ออกแนวทางให้ ผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อแก้ปัญหาเตียงเต็มโดยให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด แต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และพยาบาล

เรื่องนี้ (25 ก.ค. 64) นายแพทย์สุธี ทุวิรัตน์ ได้สรุปประสบการณ์ ในการดูแลครอบครัวที่ติดโควิดทั้งบ้าน 10 คน แบบ Home isolation โดยระบุว่า

ครอบครัวนี้สมาชิก 10 คน ประกอบด้วย

-อากงและอาม่า อายุ ประมาณ 70 ปี

-อากงและอาม่า มีลูกชาย 1 คน ลูกสาว 2 คน

-ลูกชายเป็นพี่ชายคนโต แต่งงานมีลูกมีเมียแล้ว มีลูกอ่อน 2 คน เป็นฝาแฝด อายุ 2 ขวบ

-ลูกสาวคนโตก็แต่งงานแล้ว มีลูก 2 คน เริ่มเป็นวัยรุ่นแล้ว

ทั้งหมด 10 ชีวิต อาศัยอยู่รวมกันอย่างค่อนข้างจะแออัดในห้องแถวย่านตลาดน้อย

ครอบครัวนี้เกิดโชคร้าย ติดเชื้อโควิด โดยไม่รู้ตัวว่าติดได้อย่างไร ติดจากใคร โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้

วันที่ 12/7/64 อากงเริ่มมีอาการไอ

วันที่ 15/7/64 ลูกสาวคนโตเริ่มมีอาการไอ

วันที่ 17/7/64 ลูกสะใภ้ กับอาม่า เริ่มมีไข้ ไอ

วันที่ 18/7/64 หลาน 2 คนที่เป็นวัยรุ่น เริ่มมีไข้ต่ำๆ, ลูกสาว อาการมากขึ้น เริ่มมีอาการเจ็บคอ

ทั้งบ้านก็ยังไม่เฉลียวใจว่าติดเชื้อโควิดกันทั้งบ้านแล้ว

วันที่ 19/7/64 ลูกสะใภ้ มีไข้สูง ไปตรวจที่ รพ.กรุงเทพคริสเตียน พยาบาลแนะนำให้แยกกักตัวเอง เพราะสงสัยจะเป็น โควิด ลูกชายและลูกสะใภ้แยกตัวไปนอนที่คอนโด

วันที่ 21/7/64 ลูกสะใภ้รู้ผล และรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม, ลูกชายไปหาซื้อชุดตรวจมาได้ 4 ชุด ตรวจเสียไป 2 ชุด ผลตรวจ อาม่าเป็นบวก ลูกสาวเป็นลบ

วันที่ 21/7/64 ผลการตรวจ rapid test ของอาม่าเป็นบวก ลูกชายพาอาม่าไปตรวจที่โรงพยาบาล แจ้งกับทางโรงพยาบาลว่าผลตรวจ rapid test เป็นบวก แต่โรงพยาบาลไม่ตรวจให้, ครอบครัวนี้เริ่มสติแตก พยายามดิ้นรนโทรติดต่อหาที่ตรวจแต่หาไม่ได้เลย มีที่พอจะรับตรวจ ก็อยู่ไกล และจำกัดจำนวนตรวจ ต้องไปวัดดวงรอว่าจะได้รับการตรวจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ครอบครัวนี้จะไปตรวจได้ เพราะทุกคนเริ่มป่วยและมีอาการแล้ว รวมทั้งเป็นคนแก่และเด็ก สุดท้ายมีเพื่อนของลูกชายช่วยนัดจองคิวตรวจอากงและอาม่าได้ 2 คน ได้คิวตรวจที่แลบเอกชนในวันที่ 23/7/64

วันที่ 21/7/64 ลูกชายไปต้องไปนอนค้างคืนที่โรงพยาบาลจุฬา เพื่อแย่งจองคิวตรวจที่จำกัดวันละ 50 คน

วันที่ 22/7/64 ลูกชายได้รับการตรวจที่ รพ.จุฬา ผลเป็นบวก ได้รับการรักษาที่ รพ.จุฬา

วันที่ 22/7/64 หลานอายุ 2 ขวบ 2 คนเริ่มมีไข้ ประมาณ37.5ให้ทานยาลดไข้ และเช็ดตัว ไข้ลง

วันที่ 23/7/64 เด็ก 2 คนเริ่มมีไข้สูง 38.8 และ 38.6 เช็ดตัวไข้ไม่ลง นอนซึม

วันที่ 24/7/64 เด็ก 2 คนอาการดีขึ้น ไข้ประมาณ 37.5 เริ่มทานขนมได้

วันที่ 25/7/64 ลูกสาว 2 คน และหลาน 2 คนที่เป็นวัยรุ่น จองคิวตรวจได้ที่ หน่วยตรวจเชิงรุกของกทม.ที่เขตดุสิต และไปรับการตรวจแล้ว ได้รับการแจ้งว่าต้องรอผล 2 วัน จะแจ้งทาง sms

ตั้งแต่วันที่ 21/7/64 ที่รู้ว่ามีคนในครอบครัวนี้ติดโควิด ครอบครัวนี้พยายามหาทางที่จะติดต่อแจ้งไปหน่วยงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 1330 1668 1669 สาธารณสุข แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ยอมรับแจ้ง โดยอ้างว่าเป็นกฎที่จะรับแจ้งขึ้นทะเบียนเป็น ผู้ติดเชื้อโควิด ได้ ต้องมีผลการตรวจแบบ RT PCR เท่านั้น แม้ว่าครอบครัวนี้จะพยายามชี้แจงว่าเป็นผู้ติดเชื้อ เพราะมีคนในครอบครัวติดเชื้อและรักษาตัวใน รพ.สนามแล้ว และคนที่เหลือในครอบครัวหาที่ตรวจโควิดไม่ได้ ขนาดเอาผลการตรวจของภรรยาลูกชายคนโตและบอกว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน ก็ไม่ยอมรับแจ้ง และไล่ให้ต้องไปตรวจด้วย RT PCR มาก่อนเท่านั้น

เมื่อรู้ว่าติดโควิดทั้งครอบครัว ก็ดิ้นรนหาซื้อชุดตรวจ และหาซื้อยาฟ้าทะลายโจร กระชาย ทั้งยาไทยและยาจีน ทุกตัวที่โฆษณาว่าบรรเทาโควิดได้ มากินกันทั้งครอบครัว

น้องผมที่เป็นลูกเขยของบ้านนี้ ติดต่อขอความช่วยเหลือจากผมในคืนวันที่ 21/7 ผมได้โทรไปสอบถามอาการของคนในครอบครัวนี้พบว่า อาม่า และน้องสะใภ้ผม เริ่มมีอาการไอมากและหอบเหนื่อย พูดได้ไม่เยอะ พูดไปไอไป เชื้อน่าจะเริ่มลงปอดแล้ว

ผมประเมินดูแล้วมั่นใจว่าหาเตียงในโรงพยาบาลไม่ได้แน่ๆ ครอบครัวนี้น่าจะเป็นผู้ติดเชื้อโควิดสีเหลือง และมี 2 คนที่น่าจะกำลังเป็นสีแดง โอกาสที่จะรอดของครอบครัวนี้คือ รักษาตัวที่บ้าน ผมตัดสินใจที่จะไม่เสียเวลาไปในการติดต่อหาเตียงตามโรงพยาบาลต่างๆ

การหาฟาวิพิราเวียร์มาให้เร็วที่สุด คือทางรอดเดียวของครอบครัวนี้ เพื่อป้องกันไวรัสลงปอด และลดการแพร่เชื้อไวรัส แม้ว่าจะติดเชื้อกันทั้งบ้านแล้ว แต่การอยู่กันอย่างแออัด 10 คนในห้องแถวเล็กๆ จะมีไวรัสออกมากับลมหายใจตลอดเวลา และทุกคนก็หายใจเอาไวรัสของคนในครอบครัวอีก 9 คนตลอดเวลา น่าจะทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้นทุกคน

วันที่ 22/7 ผมและน้องชายพยายามติดต่อหาซื้อฟาวิพิราเวียร์ จากเพื่อนที่อยู่โรงพยาบาลเอกชน แต่ไม่สามารถหาซื้อได้เลย ทุกโรงพยาบาลยืนยันว่าการจะจ่ายยา ต้องสั่งโดยหมอ infectious และต้องมีใบตรวจด้วย RT PCR ของแต่ละคนเท่านั้น ผมและน้องชายพยายามติดต่อหาที่ตรวจ RT PCR และ RAT แต่ก็ไม่มีโรงพยาบาลไหนรับตรวจ ขนาดน้องชายผมเป็น FT โรงพยาบาลเอกชน บอกว่าเป็นญาติและนามสกุลเดียวกัน ก็ยังไม่รับตรวจ และไม่จ่ายฟาวิพิราเวียร์ให้ ผมเลยต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ ศิริราช ต้องขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือและให้กำลังใจ และช่วยหาฟาวิพิราเวียร์ ได้ 3 ชุด เมื่อได้ยามาแล้ว ผมให้อากง และอาม่า กับลูกสาวที่เริ่มมีอาการหายใจเหนื่อยหอบได้ทานยาก่อน เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงและเริ่มมีอาการหนักแล้ว

วันที่ 23/7 หลังจากได้ฟาวิพิราเวียร์ ไป 2 โดส อาม่าและลูกสาวที่อาการหนักที่สุด อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คุยได้มากขึ้นไอน้อยลง และต้องขอบคุณเพื่อนๆ ที่ช่วยหายาฟาวิพิราเวียร์ มาให้อีก 3 ชุด และส่ง pulse oximeter มาให้ วัดออกซิเจน อาม่าและลูกสาว ได้ประมาณ 94 ส่วนคนอื่นได้ 96 ยกเว้นเด็ก 2 ขวบ 2 คน วัดได้ 93 แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะนิ้วเด็กหรือเปล่าเลยวัดได้ต่ำกว่าความเป็นจริง แต่อาการเด็กก็เริ่มมีไข้สูงและเริ่มซึมแล้ว แนะนำให้ทานยาลดไข้พาราเซต และเช็ดตัวบ่อยๆ และวางแผนว่าถ้าวันที่ 24/7 อาการแย่ลง จะแบ่งยาฟาวิพิราเวียร์ของลูกสาวคนที่ไม่มีอาการ มาให้เด็กทั้ง 2 คน แต่โชคดีที่ เมื่อวานนี้ไข้เริ่มลด และเด็กอาการดีขึ้น

วันที่ 25/7 ทุกคนในครอบครัวอาการดีขึ้นแล้ว แต่จมูกยังไม่ได้กลิ่น วัดออกซิเจน ได้ 98 ทุกคน

สรุป

1. ยาฟาวิพิราเวียร์ จำเป็นมากสำหรับการรักษาตัวเองที่บ้าน และต้องรีบให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการหนัก

2. สำคัญที่สุดในการดูแลรักษาทางไกลคือ การให้กำลังใจ เพราะคนไข้จะวิตกกังวลมาก กลัวตาย กลัวไปทุกเรื่อง ผมโทรไปถามอาการและชวนพูดคุยบ่อยมาก ทุก 2-3 ชั่วโมง

3. ควรจะต้องมียาลดไข้ ยาแก้ไอ และฟ้าทะลายโจร ติดบ้านไว้

4. ตอนนี้โควิดมันแพร่กระจายไปทั่วแล้ว แม้แต่อยู่แต่ในบ้านยังติดโควิดได้ ครอบครัวนี้ อากง อาม่า และลูกสาว 2 คนอยู่แต่ในบ้าน มีแต่ลูกชายและลูกสะใภ้ที่ทำงานนอกบ้าน แต่อากงติดเชื้อเป็นคนแรกเลย ยังไม่รู้ว่าติดได้อย่างไร ยิ่งทำให้สงสัยว่าน่าจะติดจาก airborne

5. ให้ทานน้ำเยอะๆ ผมสั่งให้กินน้ำอย่างน้อยวันละ 3 ลิตร และทุกครั้งที่โทรไปจะกระตุ้นให้กินน้ำเยอะๆ เพื่อช่วยเรื่อง hydration

6. ผมให้คนไข้ทุกคน วัดไข้ จับชีพจร และนับการหายใจทุก 1 ชั่วโมง บันทึกไว้ วัตถุประสงค์เพื่อให้คนไข้ได้รู้จักสังเกตอาการตนเอง ต่อมาเมื่อมี pulse oximeter ผมก็เปลี่ยนมาให้ทุกคนบันทึก ออกซิเจนและชีพจร ของตนเอง ทุก 1 ชั่วโมง เพื่อที่เราจะได้ให้คนไข้ได้รู้การเปลี่ยนแปลงของตนเอง และช่วยให้ผมที่เป็นหมอสามารถที่จะมาประเมินทบทวนอาการของคนไข้ย้อนหลังได้

7. ในกรณีเลวร้ายสุดๆ คือยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ได้ผล และคนไข้เริ่มมีอาการปอดอักเสบชัดเจน ผมจะไม่พยายามไปหาออกซิเจนมาให้ เพราะรู้ว่าไม่ได้ผล มีแต่จะทำให้คนไข้ทรมานมากขึ้น เพราะคนไข้ที่ปอดอักเสบรุนแรง ต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ หรืออย่างน้อยก็ต้องเป็น high flow oxygen แต่ผมจะทดลองให้การรักษา ด้วยวิธีการที่ยังไม่เคยมีใครทดลองมาก่อน แต่อาจจะได้ผลสามารถยื้อชีวิตผู้ป่วยได้ ซึ่งถ้าเพื่อนๆมีญาติหรือคนในครอบครัวที่เริ่มมีปอดอักเสบและไม่สามารถหาเตียงในไอซียูได้ หลังไมค์มาคุยกันนะครับ ยินดีแชร์ให้ฟังครับ แล้วเพื่อนๆให้คนไข้ตัดสินใจเองว่าจะทดลองรักษาตัวตามสูตรของผมหรือไม่

8. ตอนนี้การติดเชื้อแพร่ระบาดเข้าไปในครัวเรือนแล้ว เมื่อพบผู้ติดเชื้อ 1 คน สมาชิกในครอบครัวจะติดเชื้อไปแล้วทุกคน ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข ต้องยกเลิกกฎที่บังคับให้ต้องมีผลตรวจ RT PCR ทุกคนถึงจะรับลงทะเบียนเข้าระบบ ควรจะใช้แค่ผลการตรวจ rapid test และกระทรวงสาธารณสุข ต้องมีหน้าทีจัดหาชุดตรวจ ATK ส่งไปให้คนในครอบครัวผู้ป่วยทุกคน เพื่อที่จะรีบตรวจและคัดกรองผู้ติดเชื้อ ไม่ใช่ผลักภาระให้ผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าเด็กหรือคนแก่ต้องไปดิ้นรน หาที่จองคิวตรวจด้วยตัวเอง และก็เอาเชื้อไปแพร่ให้คนรอบข้าง แบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

9. ครอบครัวนี้น่าจะเริ่มติดเชื้อวันที่ 12/7/64 จนกระทั่งวันนี้ (25/7/64) ก็ยังไม่สามารถที่จะเข้าถึงการตรวจด้วย RT PCR และไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่าเป็นผู้ติดเชื้อโควิด

10. ช่วยกันเรียกร้องกดดันให้กระทรวงสาธารณสุข ยกเลิกระเบียบคำสั่งที่การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ติดเชื้อต้องมีผลการตรวจยืนยันด้วย RT PCR เท่านั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันที่การระบาดอย่างหนัก ควรจะยืนยันด้วยผลการตรวจ ATK ก็น่าจะเพียงพอแล้ว และต้องเป็นหน้าที่ของสธ. สปสช. ที่ต้องจัดหาและจัดส่งชุดตรวจ ATK ไปให้ครอบครัวของผู้ติดเชื้อ เพื่อที่จะคัดกรองหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์

11. ถ้าคิดว่าโพสต์นี้เป็นประโยชน์ สามารถแชร์ต่อไปได้ครับ