เปิดสาเหตุ! ญี่ปุ่น โควิดระลอก 8 หนักกว่าทุกครั้ง

นพ.ธีระ เผย ปัจจัยที่ทำให้โควิดระลอก 8 หนักกว่าทุกครั้ง มาจากความแออัดของประชากร และกิจกรรมเดินทางท่องเที่ยว ทำให้ติดเชื้อมาก

เปิดสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมกราคม มาอัปเดตสถานการณ์โควิด 19 กันหน่อยค่ะ

วันนี้ (16 ม.ค.66) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานยอดติดเชื้อโควิดในไทย ระหว่างวันที่ 8 – 14 ม.ค.66 หรือ 7 วัน พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์)จำนวน 969 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 138 ราย/วัน ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 65 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 9 ราย/วัน

ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายเกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์โควิดของญี่ปุ่น ว่า 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิดสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และรัสเซีย

ส่วนแนวโน้มการติดเชื้อรายวันในญี่ปุ่นชะลอตัวลง แต่จำนวนเสียชีวิตรายวันนั้นยังสูงมาก ซึ่งการระบาดในญี่ปุ่นสะท้อนให้ไทยเราจำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะ drivers หลักน่าจะมาจากความแออัดของประชากร และกิจกรรมเดินทางท่องเที่ยว แม้อัตราการฉีดวัคซีนจะสูง แต่ก็ติดกันมาก ป่วยกันมาก และเสียชีวิตกันมากได้ โดยญี่ปุ่นนั้นเป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจนว่า ระลอกที่ 8 ล่าสุดนั้นหนักกว่าทุกระลอกที่เคยผ่านมาทั้งหมด

ความเชื่อเรื่องไม่ต้องกังวลเพราะไวรัสอ่อนลง และคนแข็งแกร่งจากภูมิคุ้มกันของวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาก่อนนั้น “ไม่จริง” และจำเป็นต้องป้องกันตัวให้สม่ำเสมอในสถานการณ์ที่เหยียบคันเร่งเศรษฐกิจโดยอาศัยการท่องเที่ยวที่มีจำนวนคนมาก กิจกรรมและสถานที่เสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น

สายพันธุ์ที่นำการระบาดในแต่ละประเทศ

โดยรวมแล้วทั่วโลก BQ.1.1 ยังครองสัดส่วนที่สูงสุด และพบว่า XBB.1.5 ที่มีการระบาดขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากอเมริกาไปสู่ 38 ประเทศ

อย่างไรก็ตามมีหลายประเทศที่มีสายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดในประเทศที่จำเพาะ เช่น

ภูมิภาคเอเชีย:

อินเดีย XBB

เกาหลีใต้ BN.1.3

ญี่ปุ่น BF.5

จีน BF.7

สิงคโปร์ XBB.1*

ฮ่องกง CH.1.1

ฟิลิปปินส์ BA.2.3.20

ภูมิภาคโอเชียเนีย:

ออสเตรเลีย XBF BR.2.1

นิวซีแลนด์ CH.1.1

ภูมิภาคยุโรป:

รัสเซีย CL.1

ทีมงานจาก The Sato Lab ประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาเมื่อคืนนี้ 15 มกราคม 2566 พิสูจน์ให้เห็นว่า XBB.1.5 นั้นดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากกว่า BA.5 ราว 10 เท่า และมากกว่า BA.2 ราว 20 เท่า

นอกจากนี้ จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า XBB.1.5 ติดเชื้อสู่เซลล์ได้ง่ายกว่า XBB.1 ราว 3 เท่า

และหากประเมินสมรรถนะของไวรัสสายพันธุ์ XBB.1.5 ในการแพร่จากคนติดเชื้อไปยังผู้อื่น พบว่าจะแพร่ได้มากกว่า XBB.1 ราว 20% ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานจากหน่วยงานควบคุมป้องกันโรคของยุโรป (ECDC) ได้ประเมินไว้เมื่อ 13 มกราคมที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยนั้น หลังเปิดกิจกรรมท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ มีโอกาสที่จะเกิดการระบาดปะทุขึ้นได้ ดังที่เห็นจากต่างประเทศ และหากปะทุขึ้น ลักษณะที่จะเกิดย่อมขึ้นกับสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ว่าเข้ามาในแต่ละพื้นที่มากน้อยเพียงใดในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็น BQ.1.1, XBB.1.5, CH.1.1 หรืออื่นๆ

นอกจากนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ระบุว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 16-28 ม.ค. 2566 รวม 13 วัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) คาดการณ์มีผู้โดยสารเดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 1,819,198 คน หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 139,938 คน คน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ (รวมขาเข้า-ออก) จำนวน 1,364,202 คน และภายในประเทศ (รวมขาเข้า-ออก) จำนวน 454,996 คน

ดังนั้น เมื่อออกนอกบ้านการสวมแมสก์ยังจำเป็นและสำคัญ พยายามหลีกเลี่ยงอยู่ในที่แอดอัด ดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัด จะได้เที่ยวได้อย่างสนุกนะคะ

คลิปอีจันแนะนำ
ชาร์จแบตทิ้งไว้ แต่กลับโดนดูดเงิน เกลี้ยงบัญชี?