ครูแอ๊ด เดอะสะล้อ ผู้ปลุกชีวิต ดนตรีล้านนา

ทุ่มเททั้งชีวิต! ครูแอ๊ด เดอะสะล้อ ผู้ปลุกชีวิต ดนตรีล้านนา ให้กลับมาเป็นที่รู้จัก

“อุทิศตนทั้งชีวิต ปลุกชีวิต ดนตรีล้านนา ให้ฟื้นคืนชีพ”

หากพูดถึง ดนตรีล้านนาเอกลักษณ์ที่งดงามของภาคเหนือ ในสมัยนี้หลายคนอาจจะไม่รู้จัก แต่ผู้ชายคนนี้ ครูแอ๊ด นายภานุทัต อภิชนาธงชายวัย 47 ปี ซึ่งเป็นศิลปินล้านนาครูผู้ที่สืบสาน สืบทอด อนุรักษ์ ดนตรีล้านนาอย่างมีคุณค่า และน่าเชิดชู ในขณะเดียวกันครูแอ๊ดก็ได้สร้างสรรค์ผลงานใหม่ เพื่อส่งเสริมให้ดนตรีล้านนา ไม่ให้มีวันตาย ไม่ให้เลือนหายตามกาลเวลา และพยายามลบภาพจำ ดนตรีเชยๆ ตลอด 30 ปี ที่ผ่านมา

“เพราะใจรักตั้งแต่วัยละอ่อน จึงทำให้ดนตรีล้านนาเป็นดนตรีท้องถิ่น”

จันรู้สึกห่อเหี่ยวใจ หลังจากที่ครูแอ๊ดได้พูดถึง ดนตรีล้านนาเมื่อ 30 ปีก่อนว่า “ดนตรีล้านนาคือดนตรีขอทาน เป็นดนตรีสุดเชย” เพราะช่วงนั้นดนตรีล้านนายังไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้คนมากนัก แต่ครูแอ๊ดก็ไม่ได้สนใจในสิ่งที่สังคมมอง เพราะพื้นฐานความชื่นชอบในวัยละอ่อนของครูแอ๊ดมีความสนใจ ดนตรีล้านนาตั้งแต่เด็กๆอยู่แล้ว

ก้าวแรกที่เดินเข้าวงการดนตรีอย่างเต็มตัวอายุประมาณ16 ปี แต่ตอนนั้นครูแอ๊ดก็เสพความสุนทรีย์ของดนตรีอยู่เพียงคนเดียวทุกเมื่อเชื่อวัน แต่การเล่นดนตรีคนเดียวมันเกิดอาการความเหงา ครูแอ๊ดจึงเปิดศูนย์เรียนรู้เพื่อรวบรวมผู้คนที่ชอบเสพเสียงเพลงและดนตรีล้านนาไว้รวมกัน เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและพลังอันยิ่งใหญ่ให้กับวัฒนธรรมดนตรีพื้นเมืองให้กับคนภาคเหนือ

“ถ้าเราได้ทำตามความฝัน สิ่งนั้นจะเรียกว่าความสุข”

ช่วงเวลาที่อิ่มเอมใจในวัยรุ่นคือการได้สานต่อความฝัน ได้ทำในสิ่งที่เรารัก ครูแอ๊ดมีโอกาสได้ไปเรียนรู้กับปรมาจารย์ด้านดนตรีนามว่า “ครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์” เป็นช่างทำซอสามสายที่มีประสบการณ์มากว่า 30 ปี ซึ่งครูแอ๊ดได้หัดทำเครื่องดนตรีล้านนา เกือบ 10 ปี จนกลายเป็นลูกบุญธรรมของครูบุญรัตน์

ในเวลาต่อมาด้วยความขยัน หมั่นเพียร และอยากให้ฝันเป็นจริง ครูแอ๊ดเล่าให้จันฟังว่า “ณ ตอนนั้นผมเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย และได้เปิดสอนดนตรีล้านนาในวัดช่วง เสาร์ – อาทิตย์ ซึ่งมีผู้คนมาเรียนมากที่สุดเกือบ 300 คน ลูกศิษย์ลูกหาที่เคยเรียนกับผมตอนนั้น วันนี้ได้แตกแขนงมีหน้าที่การงานที่เจริญงอกงามกันเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีศิลปากร บางคนก็กลับมาเป็นครูวิทยาลัยนาฏศิลป์จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งครูแอ๊ดก็เล่าให้จันฟังอย่างภาคภูมิใจที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ได้สร้างคนให้ประสบความสำเร็จในวงการดนตรีล้านนา

“ดนตรีล้านนา & ดนตรีสากล เป็นความแตกต่างที่ลงตัว ”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน…ดนตรีล้านนาจึงต้องทันสมัย ครูแอ๊ดเล่าให้ฟังต่อว่า “ดนตรีล้านนาไม่มีวันตาย ถ้ารู้จักประยุกต์ เช่น การนำเครื่องดนตรีล้านนาอย่าง สะล้อมาฟีเจอริ่งกับกีต้าร์ ผมยังได้สร้างวงดนตรีกับลูกศิษย์ ตั้งชื่อวงว่าเดอะสะล้อ ซึ่งผมเป็นหัวหน้าวงและมีหน้าสร้างสรรค์ผลงาน เผยแพร่ คิดการแสดง โชว์ต่างๆ เพื่อผสมผสานระหว่างดนตรีล้านนาและดนตรีสากล เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่และความลงตัวของยุคสมัยใหม่ ยกตัวอย่างดนตรีล้านนา เสียงเบา สู้เสียงเครื่องดนตรีสากลไม่ได้ ผมจึงประดิษฐ์ “สะล้อไฟฟ้าขึ้นมา

ซึ่งจะทำให้เสียงสะล้อดังมากขึ้นในขณะที่เล่นคอนเสิร์ต บรรยากาศคอนเสิร์ตสนุกมากขึ้น และผมก็ผลิตกีตาร์เป็นรูปซึง เพื่อรูปลักษณ์ที่ดูร่วมสมัยมากขึ้น” ล่าสุดครูแอ๊ดได้คิดค้น “ซึงคอร์ด” มีลักษณะสามสายคล้ายๆกีต้าร์ วัตถุประสงค์ที่คิดค้นดนตรีชิ้นนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการให้คนทั่วไปรู้จักดนตรีล้านนามากยิ่งขึ้น

ครูยุคนี้ต้องเร็ว ต้องตามให้ทันลูกศิษย์ และไม่ปิดกั้น

โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมผู้คนเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน การสอนดนตรีจึงมีการเปลี่ยนไปตามกาลเวลาเฉกเช่นเดียวกัน ครูแอ๊ดจึงใช้โซเชียลมีเดีย ปรับเป็นสื่อการเรียนการสอนให้ทันกับผู้เรียนและเพิ่มความสนใจมากขึ้น

ซึ่งครูแอ๊ดมีเทคนิคตามสไตล์คนกำเมืองล้านนาดังนี้ ผมได้เปิดเพจเฟซบุ๊กที่ชื่อว่า เดอะสะล้อ ซึ่งผมก็บอกเทคนิคการเล่นดนตรี ล้านนาผ่านคลิปวิดีโอ ไลฟ์สด รวมไปถึงช่องทางโปรแกรมสุดฮิตของวัยรุ่นอย่างติ๊กต๊อกด้วย จะว่าไปแล้วผมมองว่า ลูกศิษย์ก็เหมือนคนสอนผมกลับนะ เพราะว่าลูกศิษย์จะเป็นผู้ป้อนคำถาม ในระหว่างที่เราไลฟ์สดสอนอยู่

ส่วนเราต้องไปหาคำตอบให้กับลูกศิษย์ในคำถามประเด็นนั้นๆ ดังนั้นลูกศิษย์จึงเป็นผู้สอนครู ส่วนเราก็ต้องมีเทคนิคการสอนให้เกิดความเข้าใจง่าย การเรียนการสอนยุคนี้มันจึงทำให้เกิดสัมฤทธิ์ผล ทั้งคนเรียนและคนสอน” นอกจากนี้ครูแอ๊ดยังเปิดคอร์ดสอนดนตรีล้านนา ให้กับทุกคนฟรี มีตั้งแต่เด็ก ไปถึงผู้สูงอายุ หันมาสนใจ ดนตรีล้านนาเพื่อก่อให้เกิดการสืบทอด สืบสาน ให้ดนตรีล้านนา ให้คงมี คงอยู่ คงคุณค่า คู่กับคนไทยไปตลอดกาล

มาถึงตอนนี้ คงพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ครูแอ๊ด ทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อรักษาดนตรีล้านนา ให้คงอยู่ ลบภาพความเชย ความน่าเบื่อ ด้วยการผสมผสานแนวดนตรีใหม่ และครูแอ๊ด ฝากทิ้งท้าย ไว้ว่า … “ดนตรีล้านนา ไม่ใช่ดนตรีที่เชยอีกต่อไป หากใครไม่ชอบ ก็ไม่ควรดูถูก เหยียดยาม”