คนที่มี อาการแพ้กุ้ง ควรรู้ สาเหตุที่หลายคนอาจไม่รู้ และ ข้อควรระวัง

คนที่มี อาการแพ้กุ้ง ควรรู้ ! สาเหตุที่หลายคนอาจไม่รู้ และ ข้อควรระวัง เพื่อพร้อมรับมือกับอาการแพ้

จากไม่นานนี้ เกิดเหตุการสาวรายหนึ่งแชร์ประสบการณ์แพ้กุ้ง เพียงเพราะมีหางกุ้งปนในอาหาร ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงกำเริบเรื่องราวนี้ถูกแชร์โดย ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง เธอได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ เล่าประสบการณ์ แพ้กุ้งระดับ4 ซึ่งอาการแพ้มีถึงระดับ 6 ดังนั้น เราจึงอยากมาบอกเกร็ดความรู้ของคนที่แพ้กุ้งหรือมีคนใกล้ชิดมีอาการแพ้ เพื่อจะได้ช่วยกันระมัดระวัง

แพ้กุ้ง?

เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการแพ้อาหาร (Food allergy) เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองมากกว่าปกติ โดยร่างกายมองว่าสารบางอย่างในตัวกุ้งเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงกระตุ้นการหลั่งสารเคมีเพื่อมากำจัดสารชนิดนั้น ซึ่งการต่อสู้กันระหว่างสารและร่างกายจะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา โดยกลุ่มคนที่แพ้กุ้งส่วนมากจะเกิดอาการแพ้ภายในไม่กี่นาทีไปจนถึง 2 ชั่วโมง อาการแพ้กุ้งเป็นอาการที่พบได้ทั่วไปที่ส่งผลกับระบบของร่างกายจนสามารถสังเกตุได้จากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นลมพิษ ผื่นคัน หน้าบวม หรือหายใจติดขัด อาการเหล่านี้เป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่ตอบสนองรุนแรงกว่าปกติ ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยอาการแพ้มีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงขั้นเสียชีวิต!

อย่างไรก็ตาม ใครที่แพ้กุ้ง จำเป็นต้องรู้อาการของตัวเอง ถ้าหากรุนแรงเฉียบพลัน กินปุ๊บออกอาการปั๊บ ควรหลีกเลี่ยงการกินกุ้งไปตลอดชีวิต!! แต่หากไม่ได้มีอาการรุนแรง แพ้บ้างไม่แพ้บ้าง ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ใจโดยแพทย์เท่านั้น แพ้กุ้งหรืออาการแพ้อาหารนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ลักษณะอาการที่สำคัญ ตามนี้

  • ผิวหนัง
    อาการแพ้ในรูปแบบนี้มักเห็นได้ชัด อย่างลมพิษ ผื่นแดง คัน พบอาการบวม โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า เปลือกตา ริมฝีปาก และคอ

  • ระบบทางเดินหายใจ
    เนื่องจากเนื้อเยื่อบริเวณคอที่บวมมากขึ้นอาจส่งผลให้หายใจไม่สะดวก รวมถึงสารฮิสตามีนที่หลั่งออกมาจะส่งผลให้มีอาการไอ น้ำมูกไหล คัดจมูก หรือหายใจลำบาก

  • ลำไส้และกระเพาะอาหาร
    อาการแพ้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และปวดท้อง

  • ระบบประสาท
    อาการแพ้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน หน้ามืด และเป็นลมได้

  • ภาวะปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง
    ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นภาวะที่พบได้น้อย แต่เป็นภาวะที่อันตรายจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยภาวะนี้จะส่งผลให้หายใจไม่ออก หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว ความดันเลือดลดต่ำลง ช็อก หมดสติ และเสียชีวิต ดังนั้น หากปรากฏสัญญาณของปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงให้โทรเรียกรถพยาบาลทันที

ทำไมโตมาแล้วพึ่งมาแพ้กุ้ง ตอนเด็กไม่แพ้ ? แพ้กุ้งตอนโต อาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของ “ไมโครไบโอม” (Microbiome) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายของเรา หรือการกินยาปฏิชีวนะ และ การกินอาหารที่มีกากใยไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จนส่งผลให้แพ้อาหารในตอนโตได้

หลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการแพ้กุ้ง เมื่อเกิดอาการผิดปกติหลังจากการกินกุ้ง คนมักคิดว่าเป็นอาการที่เกิดมาจากการแพ้กุ้ง ซึ่งจริงแล้วอาจเป็นการแพ้สารในกุ้งหรือแพ้สารที่เกิดจากอาหารที่ใช้เลี้ยงกุ้งก็ได้ ส่วนใหญ่แล้ว อาการแพ้กุ้งของคนไทยมักเกิดจากสารฮีโมไซยานิน (Hemocyanin) ที่อยู่ในกุ้งแม่น้ำหรือกุ้งก้ามกราม สารโปรตีนลิพิดไบน์ดิง (Lipid-binding Protein) และโปรตีนแอลฟาแอกตินิน (Alpha-actinin Protein) ที่อยู่ในกุ้งกุลาดำหรือกุ้งลายเสือ

โดยสารเหล่านี้เป็นสารที่อยู่ภายในตัวกุ้งโดยตรง แต่สารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้อาจมาจากอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงกุ้งจึงอาจทำให้เดียวแพ้เดียวไม่แพ้เนื่องจากกินกุ้งที่มาจากคนละที่มา นอกจากนี้ อาการแพ้ที่หลายคนคิดว่าเกิดจากการรับประทานกุ้งยังอาจมาจากสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการคล้ายกันได้ เช่น อาหารเป็นพิษ โรคลำไส้อักเสบ โรคมะเร็งลำไส้ หรือความรู้สึกกลัวอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง เป็นต้น

อย่าหาทำ!

กินยาแก้แพ้ดักไว้? สำหรับคนที่มีอาการแพ้ทันทีหลังกินกุ้ง การกินยาแก้แพ้ก่อนกินกุ้งไม่สามารถไปลดอาการแพ้ให้เบาลงได้ แต่จะเสี่ยงอันตรายกว่าเดิม เพราะคนที่เชื่อว่ากินยาแก้แพ้แล้วจะไม่เป็นอะไร อาจกินกุ้งมากขึ้นโดยไม่ได้ระมัดระวังตัว ยิ่งเสี่ยงกว่าปกติ

กินบ่อยๆจะหายเอง? บางคนฝืนกินด้วยความเชื่อว่าร่างกายจะปรับตัวได้เอง แต่วิธีไม่ดีต่อคนที่มีอาการแพ้รุนแรง เพราะจะส่งผลให้หายใจไม่ออก หัวใจเต้นผิดจังหวะ ร่างกายสูบฉีดโลหิตเร็ว จนอาจช็อค หมดสติ หรือเสียชีวิตได้เลย

รับมือกับอาการแพ้กุ้ง

วิธีที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ เพื่อป้องกันอาการแพ้ จึงควรใส่ใจที่จะอ่านฉลากอาหารก่อนรับประทานทุกครั้ง ถ้าหากรับประทานไปแล้วเกิดอาการแพ้ในระดับที่ไม่รุนแรงอาจใช้ยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการได้ ซึ้งคนที่มีอาการแพ้รุนแรง แล้วมีอาการเวียนศีรษะ ความดันต่ำ หรือรู้สึกคล้ายจะหมดสติ ควรเรียกรถพยาบาลทันที สำหรับผู้ที่มีประวัติการแพ้รุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาอิพิเนฟริน (Epinephrin) ในรูปแบบเข็มฉีดสำหรับคนที่เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง โดยหลังจากฉีดควรไปโรงพยาบาลทันที

อีกทั้ง ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้กุ้ง อาหารทะเล หรืออาหารอื่น ๆ อย่างรุนแรง ควรอยู่ให้ห่างจากแหล่งที่มีของที่ตัวเองแพ้จำหน่าย อย่างตลาด ร้านอาหารทะเล หรือโรงงาน เนื่องจากการสูดดมสารก่ออาการแพ้ที่ลอยอยู่ในอากาศก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ อย่างไรก็ตาม หากหาสาเหตุของการแพ้ไม่ได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจหาสารก่ออาการแพ้ด้วยวิธีทางการแพทย์

ขอบคุณข้อมูล โรงพยาบาลศิครินทร์ / พบแพทย์ (PobPad)

คลิปแนะนำอีจัน
ปลุกไฟ ในวัย 40 ได้เพราะ เมอร์ริส #ธุรกิจพลิกชีวิต