คนไทยแชร์ประสบการณ์โควิดในเบลเยียม – การเดินทางเข้าไทยยุ่งยาก

คนไทยในเบลเยียม แชร์ประสบการณ์โควิด ปชช.ออกมาใช้ชีวิตปกติ แม้โควิดระบาด เพราะทุกคนเข้าใจโรค รับมือได้ ขอชื่นชมคนไทยที่การ์ดสูง แต่ย้อนถามเข้าใจโรคจริงๆหรือเปล่า ?

คนไทยในเบลเยียม อยากแชร์ประสบการณ์

วันนี้ประชาชนใช้ชีวิตปกติ แม้โควิดระบาด

พี่มน หรือ สุมน เบลพาเมอร์ เธอเป็นพยาบาลแผนกโรคปอด อยู่ที่ประเทศเบลเยียม กลับมาประเทศไทย อีจันเลยมีโอกาสได้พูดคุย พร้อมแชร์ประสบการณ์โควิด พี่มน เล่าให้เราฟังว่า สถานการณ์โควิดที่เบลเยียม ตอนนี้แตกต่างจากเมื่อ 2 ปีที่แล้วมากๆ

ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โควิด เป็นโรคที่ไม่มีใครสามารถเดาได้ว่า ต้องรักษาอย่างไร ชุด PPE คืออะไร จะมีคนตายเพิ่มอีกกี่คน ไม่มีทางรู้ เพราะ เป็นโรคใหม่ที่ไม่มีใครมีความรู้เกี่ยวกับโควิดเลย

“ตอนนั้นเราอยู่กับความไม่รู้จริงๆ มันใหม่สำหรับคนทุกคน แต่ว่าก็มีการป้องกันอย่างดี แต่ถ้ามีคนไข้โควิดเข้ามา ก็รู้ว่าต้องใส่ชุดอะไร ยังไง คือต้องระวังเต็มที่ เพราะเราอยู่กับความไม่รู้มากๆ”

ปัจจุบัน เปลี่ยนไปมากแล้ว โควิดรุ่นหลังๆ

แผนกที่พี่มนอยู่ ไม่ต้องใส่ชุด PPE แล้ว แต่ใส่ชุดคล้ายๆชุดกันฝนและสวมหมวกคลุม หรือ ไม่ใส่ก็ได้ทางโรงพยาบาลไม่บังคับ คนอื่นอาจจะมองว่า เป็นการแต่งตัวไม่รัดกุม แต่ที่นั่นคือความปกติ เพราะในโรงพยาบาลมีหน่วยงานที่ศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ แล้วจะมาให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล

พี่มนเล่าอีกว่า ถ้าเกิดเปรียบเทียบกับประเทศไทย พี่มนมองว่า ไทยเป็นประเทศที่เหนือจริงมาก ขอชื่นชมคนไทยทุกคน ที่ออกไปข้างนอกแล้วใส่แมสก์หมดเลย ทุกคนมีวินัยมาก แต่สำหรับพี่มนและที่ประเทศเบลเยียม คือใส่ไปเพื่ออะไร

“แต่พี่คิดว่าความมีวินัยตรงนี้ เกิดจากความเข้าใจจริงๆหรือเปล่า ในการรับมือกับโควิด-19 จริงๆเราต้องเข้าใจมันด้วยนะ มันร้ายแรงขนาดนั้นหรือเปล่า แล้วที่นี่พอติดโควิด ก็มีคนบอกว่าการ์ดตก ใครอยากติดโควิดอ่ะ กลายเป็นว่าเป็นความผิดของประชาชนที่การ์ดตก แต่สำหรับที่นั่นคือ ติดก็ติด ไม่มีใครอยากเป็น”

ก่อนหน้ายุคแรกๆ ที่พี่มนอยู่ในสถานการณ์ที่โควิดระบาดหนัก คล้ายอยู่ในสนามรบโควิด หลังจากเลิกงานจะต้องมีการอาบน้ำ สระผมทุกวันที่โรงพยาบาลก่อนกลับบ้าน ทำคล้ายๆกับประเทศไทยตอนนี้ ซึ่งที่นั่นผ่านมา 2 ปีแล้ว พี่มนมีความรู้สึกว่า ประเทศเทศอื่นเดินไปข้างหน้า แต่ทำไมไทยยังอยู่ที่เดิม แต่จริงๆเมืองไทยทำดีมากๆแล้ว ได้รับความชื่นชนจากหลายประเทศในยุโรป

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ที่มนอยากจะแชร์ประสบการณ์ คือ การเดินทางกลับไทย

เอกสารเยอะ กว่าจะเข้าไทยได้ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา

พี่มน เล่าว่า ต้องลางานล่วงหน้า 1-3 เดือน ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลไทยประกาศแล้วว่า จะใช้มาตรการ Test & Go มากักตัว 1 วัน แล้วรอผลตรวจ RT-PCR ถ้าผลออกมาเป็นลบ ถึงจะกลับบ้านได้ พี่มนก็ตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบิน พอมีโอมิครอนระบาด คนไทยที่อยู่ในประเทศเบลเยียมต่างก็รอรัฐบาลประกาศมาตรการการเดินทางข้าประเทศ ลุ้นกันเยี่ยวเล็ด สุดท้าย รัฐบาลไทยประกาศยกเลิกมาตรการ Test & Go กลายเป็นว่าทุกคนที่เดินทางเข้าไทย ต้องกักตัว 7 วัน

คนไทยและนักท่องเที่ยว ต่างพากันยกเลิกกลับไทย เพราะคิดว่า การท่องเที่ยว คือ การมาพักผ่อน แต่ทำไมพวกเขาต้องเครียดกับการเตรียมเอกสารต่างๆ แล้วอีกอย่างการฉีดวัคซีนน่าจะเป็นใบเบิกทางเข้าไปสู่ประเทศต่างๆได้ง่ายๆ แต่กลายเป็นว่า มันไม่ใช่เอกสารเบิกทางสำหรับประเทศไทยเลย เพราะต้องมากักตัวอีก 7 วัน คือ มีการเปลี่ยนมาตรการไปมา แล้วมันยากสำหรับคนที่อยู่ที่นั่น

การเดินทางเข้าประเทศไทยต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ?

1.ตั๋วเครื่องบิน

2.เอกสารฉีดวัคซีน

3.ผลตรวจโควิดก่อนเดินทาง

4.ใบจองโรงแรม

5.ใบประกันครอบคลุมในวงเงินตามที่กำหนด

ซึ่งพี่มนบอกว่า การเดินทางกลับเข้าประเทศเบลเยียม ไม่ต้องตรวจโควิดเลย แต่มีเอกสารการฉีควัคซีนก็ผ่านฉลุยแล้ว พี่มนมองมาขั้นตอนแบบนี้ มันยุ่งยาก ถ้ามองในมุมของคนที่ทำไม่เป็นขั้นตอนเหล่านี้ยากเกินไป

พอเดินทางถึงประเทศไทย พี่มนบอกว่า เห็นพยาบาลใส่ชุด PPE กับสภาพอากาศในประเทศไทยที่ร้อน เห็นแลวก็สงสาร ทั้งๆที่ตัวพี่มนเองฉีดวัคซีนและติดโควิดแล้ว ทั้งสงสารทั้งชื่นชน บุคลากรที่นี่มากๆ แต่พี่มนมองว่า…

“ในเมื่อโลกก้าวไปแล้วทำไมเราไม่ก้าวตาม อย่าใช้ความกลัวที่จะทำให้สังคมขับเคลื่อน ให้ข้อมูลเพื่อให้ทุกคนมีความรู้และเข้าใจมากขึ้น อย่าให้คนเข้าใจเพราะว่าพูดต่อๆกันมา ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะที่ไหนก็แล้วแต่ อย่าอยู่ด้วยความกลัว”