คลาร่า เซทกิ้น ผู้เปลี่ยนให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันสตรีสากล

คลาร่า เซทกิ้น มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล ผู้เปลี่ยนให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็น วันสตรีสากล หลังมีสตรีที่ต้องสูญเสียทั้งชีวิต และอิสรภาพ จากการเรียกร้องอย่างโหดร้าย

ทุกปีของวันที่ 8 มีนาคม คือ “วันสตรีสากล”

วนกลับมาอีกครั้ง กับ วันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งนับจากปี ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) ที่มีการประกาศให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็น “วันสตรีสากล” จนถึงปัจจุบันนี้ ปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) ครบ 112 ปีแล้ว

โดย “วันสตรีสากล” หรือ ” International Women’s Day” เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400)

กลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้า และตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ได้พากัน เดินขบวนประท้วงในกรุงนิวยอร์ก เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงาน และให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น โดยเรียกร้องเพิ่มค่าจ้าง และปรับปรุงสภาพการทำงาน แต่แล้วเหตุการณ์ก็จบลงด้วยการ “ฆาตกรรมโหดคนงานหญิง 119 คน” โดยการเผาโรงเรียนในขณะที่คนงานหญิงกำลังประท้วงอยู่

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังคงมีการประท้วงเกิดขึ้นเรื่อยๆ

ค.ศ. 1866 (พ.ศ. 2409) การประชุมสมัชชาของบรรดาสมาคมผู้ใช้แรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 1 ได้มีการออกมติเกี่ยวกับ การทำงานของสตรี ถือเป็นการท้าทายอย่างเปิดเผยต่อขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ในสมัยนั้น ที่กำหนดให้สตรี ต้องอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น

ค.ศ. 1889 (พ.ศ. 2432) เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม “คลาร่า เซทกิ้น” (CLARE ZETKIN) ได้แสดงสุนทรพจน์เป็นครั้งแรก เรื่อง “ปัญหาของสตรี” ต่อที่ประชุมผู้ก่อตั้งสภาคองเกรสสากล ครั้งที่ 2 ในกรุงปารีส นับเป็นเสียงเรียกร้องที่สำคัญ และมีความหมายอย่างยิ่ง

ค.ศ. 1899 (พ.ศ. 2442) ได้มีการจัดประชุมกลุ่มสตรีผู้ต่อต้านสงครามขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ ซึ่งการประชุม ดังกล่าว นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้น ของขบวนการต่อต้านสงครามที่พัฒนา และเติบโตขึ้นมากในช่วงศตวรรษที่ 20

ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) กรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้าได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ ขูดรีด ทารุณจาก นายจ้าง ที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของ “คลาร่า เซทกิ้น”

ในการเรียกร้องครั้งนี้ แม้จะมีหลายร้อยคนถูกจับกุม แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากสตรีทั่วโลก และส่งผลให้วิถีการแบบทุนนิยมเริ่มสั่นคลอน

จนในที่สุด การเรียกร้องที่แลกด้วยการสูญเสียทั้งชีวิต และอิสรภาพ ก็ประสบความสำเร็จ หลังผ่านการเรียกร้อง ชุมนุมประท้วงถึง 13 ปี

ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ได้มีการประชุมครั้งที่ 2 ของสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ (International Conference of Socialist Women) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

โดยมี คลาร่า เซทกิ้น นักสังคมนิยมจากเยอรมัน ในฐานะที่เป็นเลขาธิการของสตรีสากล ได้เสนอให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของคนงานหญิงโรงงานทอผ้าในกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) ที่การต่อสู้จบลงด้วยการฆาตกรรมหมู่

ข้อเสนอของคลาร่า เซทกิ้น ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นเอกฉันท์ จากองค์กรต่างๆ 17 ประเทศ ที่เข้าร่วมประชุม จนเธอได้รับการขนาน ถูกยกย่องให้เป็น “มารดาแห่งการเคลื่อนไหวสตรีสากล”

สำหรับวันสตรีสากล ปี 2565 นี้ กลุ่มตัวแทนเครือข่ายองค์กรสตรี ได้เข้ายื่นหนังสือเสนอข้อเรียกร้อง เพื่อความก้าวหน้าของสตรี ให้กับรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการในหลายประเด็น อาทิ มาตรการความปลอดภัย ลดพื้นที่เสี่ยงต่อการละเมิดทางเพศในสถานศึกษา การแก้ปัญหาปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และการกระทำรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิแรงงานหญิง ฯลฯ

ขอบคุณข้อมูลจาก สภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์

คลิปแนะนำอีจัน
ทั้งซึ้ง ทั้งฮา! ครูสาว ลุยโคลน เยี่ยม นร.ติดโควิด