“คุณหญิงกัลยา” เปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรและเทคโนโลยี พัฒนาด้านการเกษตร

– “คุณหญิงกัลยา” เปิดโครงการ “MCAT FARM และ K FARM Koffee” และศูนย์เรียนรู้เกษตรและเทคโนโลยี มุ่งพัฒนาแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร สร้างผู้เรียนเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงานโครงการ”MCAT FARM และ K FARM Koffee” พร้อมเปิดอาคารศูนย์การเรียนรู้ Excellent Center ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) มหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม มีนายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม, ดร.ศุภชัย ศรีหล้า ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาและประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ และนโยบาย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช) นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (ฝ่ายการเมือง) และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

โดยดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความมุ่งมั่น ที่จะยกระดับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี (วษท.) ทั้ง 47 แห่งทั่วประเทศ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และผลิตผู้ประกอบการ โดยการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านการเกษตรแต่ละพื้นที่ ผนวกกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้ผู้เข้าเรียนมีทักษะและเสริมสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ มีเป้าหมายที่จะยกระดับผู้เรียนอาชีวะเกษตร ให้มีอาชีพที่มั่นคง สร้างผู้ผลิตและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ พร้อมผลักดันในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรรูปแบบใหม่

และจะเปิดโอกาสให้ต่างประเทศที่สนใจ เข้ามาเรียนรู้เรื่องการเกษตรแบบครบวงจร พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยใช้ แนวคิด “เกษตรนำ ท่องเที่ยวตาม” ซึ่งเป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในวิทยาลัยเกษตรฯ มาผนวกกับการท่องเที่ยวเกษตร ผสานด้วยระบบการบริหารจัดการ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของบุคลากร นักเรียน นักศึกษา

สำหรับโครงการ “MCAT FARM และ K FARM Koffee” นี้ ถือเป็นโมเดลต้นแบบให้กับวิทยาลัยเกษตรฯ ทั้งหมด ในการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้วยห้องเรียนมีชีวิต พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ให้กับผู้เรียนอาชีวะเกษตร ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกเทคโนโลยี สามารถพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการมืออาชีพ มั่นใจว่าเรียนเกษตรจบมามีงานทำทุกคน และอาชีพเกษตรต่อไปจากนี้เชื่อว่าจะเป็นหัวหอกสำคัญที่จะนำพาประเทศก้าวฝ่าวิกฤตทุกเรื่องไปได้ ซึ่งภายหลังจากมีการลงนาม MOU ความร่วมมือกันแล้วก็ใช้ระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น ที่สามารถทำให้เกิดเป็นรูปธรรม นับเป็นโมเดลต้นแบบในการยกระดับการเรียน การสอน พัฒนาศักยภาพ คุณภาพให้ผู้เรียนอาชีวศึกษาเกษตร สามารถออกไปเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพได้