จิสด้า ( GISTDA ) ยืนยัน ซากจรวดจีน ตกสู่พื้นโลก ไม่กระทบไทย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ( GISTDA ) ยืนยัน ซากจรวดจีน ที่กำลังจะ ตกสู่พื้นโลก ไม่กระทบไทย

จากกระแสข่าวในโซเชียล ที่ระบุว่าจะมีเศษซากจรวดจีน Long March 5B กำลังจะตกสู่พื้นโลก โดยไม่สามารถควบคุมได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านั้น สร้างความตื่นตกใจให้กับหลายคนเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ อีจันได้ติดตาม พร้อมสอบถามไปยังสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ให้เข้าใจกันนะคะ

โดย ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ จิสด้า (GISTDA) กล่าวว่า จรวด Long March 5B ซึ่งมีความยาวประมาณ 30 เมตร กว้าง 5 เมตร ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2564 ในภารกิจส่ง module แรกของสถานีอวกาศจีน (Chinese Space Station: CSS) ที่มีชื่อว่า “เทียนเฮอ” (Tianhe) โดยคาดว่าจะสามารถปฏิบัติงานอย่างเต็มรูปแบบภายใน ปี พ.ศ.2565

ทั้งนี้ชิ้นส่วนหลักของจรวดนี้มีน้ำหนักประมาณ 20 ตัน ถือว่าเป็นวัตถุอวกาศที่มีน้ำหนักมากที่กำลังตกกลับสู่พื้นโลก ขณะนี้ 4 หน่วยงานได้มีการติดตามคาดการณ์การตกของจรวดดังกล่าว ประกอบด้วย

-United States Space Command

-ESA

-Aerospace

-GISTDA

ซึ่งได้ประเมินและคาดการณ์ตรงกันว่า วัตถุอวกาศดังกล่าวจะตกสู่พื้นโลกในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม นี้ ส่วนเวลาและตำแหน่งที่แน่ชัด จะแม่นยำขึ้น เมื่อชิ้นส่วนใกล้จะตกสู่โลกใน 1- 3 ชั่วโมง

ทั้งนี้ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวอีกด้วยว่า จากการติดตามสถานการณ์ด้วยระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ เซอร์คอน (ZIRCON) ของ ASTRO Lab พบว่าวัตถุอวกาศที่กำลังตกลงมาจะมีเส้นทางการโคจรผ่านประเทศไทยเป็นประจำทุกวัน หากพิจารณาถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ประเทศไทยมีโอกาสเพียง 0.18% ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม ทาง GISTDA จะติดตามและ update ข้อมูลเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เรื่องราวของวัตถุอวกาศที่ตกลงมายังพื้นผิวโลกนั้นมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มนุษย์ได้เริ่มมีการส่งดาวเทียม โดยทั่วไปแล้วชิ้นส่วนส่วนใหญ่ของดาวเทียมจะถูกเผาไหม้ไปกับชั้นบรรยากาศ แต่กรณีที่เป็นสถานีอวกาศที่มีขนาดใหญ่กว่าดาวเทียม จะมีชิ้นส่วนบางชิ้นเกิดการเผาไหม้ไม่หมดตกสู่พื้นผิวโลก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

ที่ผ่านมากว่า 60 ปี ชิ้นส่วนจากอวกาศที่ตกลงมาสู่พื้นผิวโลกนั้นไม่ได้สร้างความเสียหายแก่ให้ชีวิตและทรัพย์สินมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายอวกาศหรือข้อตกลงทางด้านอวกาศมีการกล่าวถึงรายละเอียดของการชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากดาวเทียมหรือสถานีอวกาศ โดยประเทศเจ้าของวัตถุชิ้นนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวที่เกิดขึ้น